กทปส. หรือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โชว์ศักยภาพผลงานการให้ทุน จัดงาน BTFP SHOWCASE BY NBTC ยกผลงานวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก กทปส. ออกสู่สายตาประชาชน โดยได้คัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่น เน้นผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ เศรษฐกิจ สังคมและสาธารณะกว่า 17 โครงการ เชิญหน่วยงานและผู้รับผิดชอบผลงาน มาร่วมจัดแสดงผลงานในงาน หวังส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง มุ่งให้เกิดการต่อยอดพัฒนาผลงาน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่สังคม และประเทศในอนาคต หวังดันนักวิจัยคนไทยลดการพึ่งพางานจากต่างประเทศ
- – กทปส. หนุนนักวิจัยไทย พัฒนาเรดาร์ตรวจจับโดรนขนาดเล็กรัศมีไกล 2 กม. ต่อยอดสู่การบินมั่นคงปลอดภัย
- – กทปส. สนับสนุน จุฬาฯ พัฒนา 5G สำหรับรถไร้คนขับ
- – นักวิจัยไทย พัฒนาระบบสื่อสารความถี่ต่ำ เพื่อใช้ในถ้ำสำเร็จ
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติของกองทุนเขียนไว้ในพระราชบัญญัติไว้อยู่แล้วว่าจะต้องมีกองทุนวิจัยและพัฒนา ซึ่งวิจัยก็หมายถึงสิ่งใหม่ พัฒนาก็หมายถึงการทำให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก อย่างที่เห็นในวันนี้ BTFP SHOWCASE BY NBTC เป็นการโชว์ตัวอย่างสิ่งที่เราส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาจะเข้ามาช่วยทำให้เกิดสิ่งใดกับสังคมบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ของตำรวจก็ทำเรื่อง “ฉลาดโอน” ซึ่งเป็นเรื่องคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ เพื่อให้เราตะหนักก่อนที่จะโอนเงิน ว่าบัญชีปลายทางนั้นถูกจัดอยู่ในบัญชีดำของแอปฉลาดโอนหรือไม่ หรือทางศิริราช ที่พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคจากภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อช่วยให้เกิดการรักษาที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องอาศัยหมอเอกซเรย์เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการพัฒนาระบบเพื่อเรียนรู้โครงสร้างถ้ำ อย่างที่เราจำกันได้เรามีการส่งเสริมให้ทำระบบต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งเริ่มต้นจากถ้ำที่เชียงรายเพื่อเรียนรู้โครงสร้างและการสื่อสารของถ้ำทั่วประเทศต่อไปในอนาคต เหล่านี้คือตัวอย่างที่กองทุน กทปส.ให้ทุนสนับสนุนไปแล้ว ทั้งวิจัยและพัฒนา เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเราเป็นกองทุนเปิด หน่วยงานต่างๆ ก็สามารถเข้ามาของบสนันสนุนได้ ขณะที่หน่วยงานของ กสทช.เองก็สามารถของบทำวิจัยได้ แนวทางที่ผ่านมา เราเปิดกว้างเพื่อให้ทุนสนับสนุน ด้วยกระบวนพิจารณาอนุมัติและขั้นตอนการทำงานที่มีความโปร่งใส ซึ่งก็จะทำให้เกิดความรัดกุมในการใช้เงินสนับสนุนที่ให้ไปตามาด้วยเช่นกัน
โดยปีนี้ มีกระแสของการสนับสนุน กรีนโปรเจ็คส์ที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งก็สอดรับตามนโยบาย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวบนเวที APEC 2022 ในการให้ความสำคัญกับโครงการสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นวาระออกมาแล้ว แต่เรายังไม่เห็นโครงการเหล่านี้เข้ามามากนัก อย่างเช่นเรื่องของการพัฒนาโครงการหลายๆ อย่างเพื่อช่วยลดโลกร้อน ซึ่งโครงการเหล่านี้ก็จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ผมคิดว่าทุกคนสนใจและกรรมการกองทุนก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่แม้ว่าเราจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราก็เปิดกว้างพร้อมสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
การจัดงานในวันนี้ อยากเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปได้รู้จักแนวทางและพันธกิจของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ให้มากขึ้น การจัดในห้างสรรพสินค้าก็เพื่ออยากให้คนทั่วไปได้รู้จัก กทปส. มากขึ้น เราไม่อยากให้คนรู้จัก กทปส.เพราะว่าบอลโลกเพียงอย่างเดียว มันยังมีสิ่งที่เราสนับสนุนมากกว่าบอลโลก และยังมีส่วนดีอีกหลาย ๆ ด้าน ซึ่งด้านของการจัดงานในวันนี้ก็จะเป็นส่วนของการวิจัยและพัฒนา อีกด้านของการสนับสนุนก็เป็นส่วนที่จะช่วยให้คนในประเทศได้เปิดหูเปิดตาและมีความสุขกับบอลโลกที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ด้านนางสาว ชนัณภัสร์ วานิกานุกูล ผู้อำนวยการส่วน รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานและสนับสนุนการพัฒนาวิจัยของ กทปส. ในปีนี้ยังคงเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการกองทุนระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงครอบคลุม มุ่งส่งเสริม ผลงาน “นวัตกรรม/งานวิจัย” การพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภค และมุ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไกการจัดสรรเงินกองทุน
การจัดสรรเงินกองทุน กทปส. ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยจะมีการเปิดให้ทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยปกติจะเปิดรับคำขอเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือน มค.-มีค. ของทุกปี
ทุนประเภทที่ 2 เป็นทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด คาดว่าในต้นปี 2566 มีแผนที่จะประกาศขอบเขตของงาน (Terms of reference : TOR) ให้ผู้สนใจได้ยื่นข้อเสนอโครงการประมาณกว่า 30 โครงการ และมีแนวโน้มขยายกรอบวงเงินสำหรับทุนต่อเนื่องเพื่อต่อยอดงานวิจัยที่มีแนวโน้มจะพัฒนาได้ในเชิงพาณิชย์
ทุนประเภทที่ 3 เป็นทุนตามนโยบายของ กสทช. กำหนดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation หรือ USO)
ทุนประเภทที่ 4 ทุนสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สำหรับ BTFP SHOWCASE BY NBTC ที่จัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เป็นการจัดแสดงผลงานที่ได้รับทุน จาก กทปส. สู่สาธารณะ และเผยแพร่ผลงานรวมถึงการทำงานของ กทปส. ให้แก่ประชาชน โดยภายในงานได้คัดเลือกผลงานส่วนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก กทปส. มาจัดแสดงในงานกว่า 17 โครงการ
ผลงานตัวอย่างโครงการที่พร้อมต่อยอดโครงการเพื่อขยายผลโครงการ ทั้งเชิงพาณิชย์ และเชิงประโยชน์สาธารณะ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่
- โครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) หน่วยงาน : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- โครงการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยภาพทางรังสี หน่วยงาน : ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- โครงการพัฒนาและขยายผลระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
- โครงการโปรแกรมประยุกต์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและค้นหาตำแหน่งของวัตถุในอวกาศ หน่วยงาน : ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ กองทัพอากาศ
- โครงการระบบสอดส่องคุณภาพพื้นผิวจราจรโดย Machine Learning ด้วยข้อมูลจาก Sensor ในยานพาหนะผ่านโครงข่าย IoT หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- โครงการศึกษาแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบสื่อสารรวมทั้งการสร้างแบบจำลองและระบุตำแหน่งในถ้ำ หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน : มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ผลงาน 10 โครงการคัดสรร จาก กทปส. สร้างผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในวงกว้าง ได้แก่
- โครงการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- โครงการแอปพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่บริหารจัดการข้อมูลผลิตผลและการตลาดสำหรับเครือข่ายเกษตรกรหน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- โครงการ Stop Fake, Spread Facts หน่วยงาน : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
- โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน :สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารสาสตร์ (NIDA)
- โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนเพื่อป้องกันการบินโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกออนไลน์สำหรับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้ต็มศักยภาพและป้องกันผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น หน่วยงาน : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โครงการเปาเปาผจญภัยในโลกนิทาน หน่วยงาน : บริษัท เอลิควอร์ กรุ๊ป จำกัด
- โครงการพัฒนาองค์ความรู้เสริมสร้างทักษะการเล่าเรื่อง และกลยุทธ์เนื้อหาข้ามสื่อ (Transmedia Storytelling and Content Strategy Workshop and Knowledge Lab) หน่วยงาน : สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์
- โครงการบริการการแพทย์โดยใช้ระบบแพทย์ทางไกล(Telemedicine) และเทคโนโลยี Blockchain ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการทำงาน และเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยนเรศวร
- โครงการพัฒนาศักยภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ผ่านเครือข่ายสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมไทย หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ผ่านมา กทปส. มีผู้ขอรับทุนสนับสนุนเป็นสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นผู้ขอรับทุนสนับสนุนที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสมาคม มูลนิธิ โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ในแผนดำเนินงานในปี 2566 กทปส. จะทำการปรับปรุงประกาศและหลักเกณฑ์การให้ทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถการยื่นขอรับทุนให้กว้างมากขึ้น โดยขอเชิญทุกท่านติดตามรายละเอียดการขอรับทุนได้ตามช่องทางประชาสัมพันธ์ของ กทปส.
“กทปส. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ของประเทศ ผ่านเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะ ดังเจตนารมณ์ตามชื่อกองทุนเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป” นางสาว ชนัณภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจยื่นขอรับการจัดสรรเงินจาก กทปส. สามารถติดตามรายละเอียดการยื่นขอรับทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/BTFPNEWS และที่เว็บไซต์ https://btfp.nbtc.go.th