ไอบีเอ็ม ร่วมกับบริษัทวิจัยไอดีซี จัดงานสัมมนา “Top Tech Trends for ASEANZK Businesses in 2023” เผยแนวโน้มและการเคลื่อนไหวสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจ คาดว่าภายในปี 2569 40% ของรายได้ทั้งหมดขององค์กร A2000 [หรือองค์กรชั้นนำ 2,000 แห่งในเอเชีย] จะมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ดิจิทัล
- – ‘กลุ่มสามารถ’ ชี้แนวโน้มธุรกิจเติบโตกว่าปี 64 เตรียมขยับเป้าสู่หมื่นล้าน
- – จับตา 7 แนวโน้ม ความปลอดภัยและจัดการความเสี่ยงธุรกิจปี 2565
นางซานดร้า อึ้ง Group Vice President and General Manager ของ IDC APJ Research กล่าวว่า “เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ อันเป็นผลพวงจากการเร่งเครื่องดิจิทัลทั่วโลก และในภูมิภาคของเรา ในช่วงเวลาสามปี [ที่ผ่านมา] และคุณลักษณะที่กำหนดยุคใหม่นี้คือ ‘contextualization’ และ ‘real time at scale’ และนี่เป็นสิ่งที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรในการขับเคลื่อนยุคดิจิทัลยุคใหม่นี้”
“มากกว่า 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมดมาจากเทคโนโลยีที่สนับสนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน หากเราคิดถึงโครงการต่างๆ ที่องค์กรชะลอไว้ ก็น่าจะมีเพียงโครงการที่สร้างอิทธิพลในมุมธุรกิจดิจิทัลได้น้อย”
ทั้งนี้ นางซานดร้าได้เผยถึงการคาดการณ์ทางธุรกิจ ประกอบด้วย ภายในปี 2569 40% ของรายได้ทั้งหมดขององค์กร A2000 [หรือองค์กรชั้นนำ 2,000 แห่งในเอเชีย] จะมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ดิจิทัล และภายในปี 2570 80% ขององค์กรจะสามารถระบุมูลค่าของขีดความสามารถ/สินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้อย่างถูกต้อง (ข้อมูล อัลกอริธึม และโค้ดซอฟต์แวร์) และจะทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนี้คาดว่าไม่เกินปี 2567 กว่า 30% ขององค์กรจะมีกลยุทธ์บริหารภาวะวิกฤติและความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ครอบคลุมอินเทลลิเจนซ์และช่วยรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและดิสรัปชันในอนาคตได้อย่างคล่องตัวว่องไว ขณะที่การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรของเอเชียแปซิฟิคในปี 2566 จะเติบโตขึ้นถึง 3.5 เท่าของเศรษฐกิจ วางรากฐานสู่การดำเนินการเป็นเลิศ ความแตกต่างทางการแข่งขัน และการเติบโตในระยะยาว
5 เทรนด์สำคัญที่ต้องจับตาในปี 2566
5 เทรนด์สำคัญจากงานสัมมนา “Top Tech Trends for ASEANZK Businesses in 2023” โดยไอบีเอ็ม ร่วมด้วยไอดีซี ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิจัยและคำแนะนำด้านไอทีระดับโลก
เทรนด์ที่ 1: Automation อัจฉริยะที่เชื่อมโยงระบบทั่วทั้งองค์กรจะเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจ
วันนี้องค์กรลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยี automaiton แต่โครงการ AI และ automaiton จำนวนมากกลับไม่ประสบความสำเร็จ โดยนางซานดร้ามองว่าเพราะ “เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำไปใช้แบบไซโลเป็นส่วนใหญ่”
นายแดเนียล โซอี้ จิเมเนซ Vice President ของ IDC AP Research อธิบายว่าองค์กรจำเป็นต้องย้ายตัวเองจากการใช้ RPA และ automation แบบ rule-based ซึ่งมักจะถูกใช้เจาะจงเฉพาะกับแต่ละกระบวนการ ไปสู่การผสานความอัจฉริยะทั่วทั้งกระบวนการและภาระงาน ที่ครอบคลุมทีมต่างๆ หรือทั่วทั้งองค์กร
นายพอล เบอร์ตัน ซีอีโอของ ไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค มองว่า “automation จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุก็เพราะในแง่ประชากร จะมีคนในตลาดงานน้อยลง คนทำงานน้อยลง และคนที่อยู่ในตลาดงานก็อาจไม่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ automation จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก”
“เพราะเหตุใดโครงการ automation ถึงไม่ประสบผล คำตอบคือองค์กรใช้ automation ในลักษณะไซโลไม่เชื่อมต่อกัน องค์กรต้องมองกว้างขึ้น ต้องเริ่มที่กระบวนการ และวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่หาได้ในวันนี้”
เทรนด์ที่ 2: การเชื่อถือข้อมูลที่มีอยู่และความจำเป็นสูงสุดในการสามารถอินทิเกรทข้อมูลได้จากทุกแหล่ง
นางซานดร้ากล่าวว่าเทคโนโลยีเกี่ยวกับ AI, analytics และ big data ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเติบโตถึง 20% เมื่อเทียบปีต่อปี
ขณะที่นายพอลมองว่า “ถ้าองค์กรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ องค์กรก็จะไปได้ไม่ไกล หากองค์กรไม่มีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ไม่มี data fabric ที่ดี ไม่มีความสามารถในการดึงข้อมูลเพื่ออนุมาน และทำการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ก็เท่ากับองค์กรนั้นไม่ได้เรียนรู้อะไร”
วันนี้ “องค์กรที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เร็วที่สุด เรียนรู้และวิวัฒนาการได้เร็วที่สุด และเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการแปลข้อมูล 100% และการเรียนรู้จากข้อมูล ดังนั้นองค์กรไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็ตามต้องมีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ใช้ data fabric เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในทุกแหล่งได้”
ทั้งนี้ นายพอลมองว่าทางเดียวที่องค์กรจะสามารถรับมือกับข้อมูลที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วคือการนำ AI มาใช้ อย่างเช่น Cloud Pak for Data โดยปัจจัยที่องค์กรควรพิจารณาถึง ประกอบด้วย
- ความน่าเชื่อถือของข้อมูล นางซานดร้าระบุว่า “เมื่อถึงระดับหนึ่ง องค์กรต้องจัดการข้อมูลและ (วิธีการที่องค์กร) เทรนชุดข้อมูล ต้องมั่นใจว่าครอบคลุมสังคมและกลุ่มคนอย่างเหมาะสม” ทั้งนี้ หาก “ข้อมูลที่ API เทรนมีชุดข้อมูลของประชากรเพียงบางกลุ่ม อัลกอริธึมก็จะได้รับการเทรนเฉพาะสิ่งที่แสดงในชุดข้อมูลนั้น”
- อินทิเกรชันและเวิร์คโฟลวเชื่อมโยงทั่วทั้งองค์กร ซึ่งนางซานดร้าระบุว่า “ดาต้าโฟลวกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ หากองค์กรต้องการสเกล” โดยนายพอลอธิบายเพิ่มเติมว่าองค์กรต้องการพื้นฐานทางข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ถูกต้อง สถาปัตยกรรมที่ใช่ รวมถึง “data fabric” ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถอินทิเกรทข้อมูลจากทั่วทั้งองค์กรเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านการดำเนินการได้ โดย data fabric คือเครื่องมือที่จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลทั่วทั้งองค์กรได้ผ่าน API เดียวและแหล่งข้อมูลเดียว”
เทรนด์ที่ 3: ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่ฝังตัวและเชื่อมต่อทั่วทั้งอีโคซิสเต็ม
นางซานดร้ากล่าวว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา จำนวนออนไลน์และโมบายล์สแกมเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ธนาคารต่างๆ ได้ลงทุนจำนวนมากในแง่กระบวนการ เทคโนโลยี และคน เพื่อบริหารจัดการซิเคียวริตี้และช่วยให้เป็นไปตามกฎของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วทั้งภูมิภาค ยิ่งเมื่อภาครัฐและรัฐบาลเพิ่มการนำออนไลน์และโมบายล์มาใช้มากขึ้นในบริการที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ยิ่งเป็นจุดที่อาจเพิ่มโอกาสในการถูกโจมตี โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพถูกจับตาเป็นอย่างมาก เฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์เฮลธ์แคร์ปลอมซึ่งรวมถึงวัคซีนโควิด สร้างความสูญเสียถึง 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การสัมมนายังดังกล่าวได้ชูแนวทางที่องค์กรควรให้ความสำคัญในปี 2566 ประกอบด้วย
- ความจำเป็นในการให้ความรู้เรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้แก่พนักงานทั่วทั้งองค์กร ที่จะต้องเป็นกระบวนการที่องค์กรทำอย่างต่อเนื่อง
- การประเมินจุดอ่อนหรือช่องโหว่ โดยนายพอลกล่าวว่า “ทางเดียวที่ [องค์กร] จะสามารถรับมือกับ (ภัยคุกคามไซเบอร์ที่เติบโตขึ้นได้) คือการนำ AI หรือ automation มาใช้” เพื่อช่วยตรวจจับและช่วยให้เข้าใจเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะ “องค์กรไม่สามารถหยุดการโจมตีของอาชญากรได้ แต่สามารถตรวจจับและคาดการณ์ได้ว่าเหตุข้อมูลรั่วหรือการโจมตีจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อทราบแล้วก็สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไข”
- ระบบซิเคียวริตี้ที่เชื่อมต่อกัน: นางซานดร้ากล่าวว่า “เมื่อผนวกอนาไลติกส์เข้ากับระบบแล้ว (องค์กร) จะมีชั้นแรกของการป้องกัน ต่อจากนั้น (องค์กร) ต้องร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มความสามารถที่ตนเองไม่มี”
- กลยุทธ์ซิเคียวริตี้ Zero trust ช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่ม cyber resiliency และบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เชื่อมต่อกันได้ ในช่วงต้นปี รัฐบาลสหรัฐได้กำหนดการใช้สถาปัตยกรรม zero trust โดยทุกหน่วยงานต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้านซิเคียวริตี้นี้ภายในปี 2567 แน่นอนว่าระเบียบข้อบังคับที่กำหนดใช้ที่สหรัฐอเมริกาย่อมส่งผลให้องค์กรและเวนเดอร์ต่างๆ ต้องปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวไปด้วย
เทรนด์ที่ 4: ความยั่งยืนคือเรื่องที่ทุกองค์กรต้องทำ
นายพอลระบุว่า เทคโนโลยีอย่าง automation ช่วยให้องค์กรมีความสามารถในการเลือกผลิตเฉพาะสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และเมื่อผลิตน้อยลง ก็ลดการใช้วัตถุดิบ นี่เป็นสิ่งที่จะมีแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งซัพพลายเชน เพราะเมื่อผลิตน้อยลง ก็ใช้พลังงานน้อยลง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง
นายแดเนียลกล่าวว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พลังงานไฟฟ้า 2% ทั่วโลก และก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตปรินท์ทั่วโลก 6-7% เฉพาะในสิงคโปร์ นำสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าราว 7%
กุญแจสำคัญในก้าวต่อไปของความยั่งยืน คือการที่องค์กรสามารถวัดคาร์บอนฟุตปรินท์จากการดำเนินงานของตนได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องควบคุมหรือมีมาตรการอย่างไร
นายพอลกล่าวว่า องค์กรไม่มีทางที่จะรู้ว่าตนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใดหากไม่มีการวัดที่เป็นมาตรฐาน โดยวันนี้ไอบีเอ็มได้นำโซลูชันอย่าง Envizi เข้าช่วยองค์กรออโตเมทการรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลหลายร้อยประเภท โดยอิงตามเฟรมเวิร์คการรายงาน ESG ตามหลักสากล
“วันนี้องค์กรที่ไม่มีรากฐานข้อมูลที่ดี ไม่มีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ไม่มี data fabric และไม่สามารถอินทิเกรทข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สกอร์การ์ด ESG ของตนได้ ถือว่าองค์กรนั้นเสียเปรียบ”
เทรนด์ที่ 5: พนักงานดิจิทัลและบุคลากรแห่งอนาคต
นายพอลกล่าวว่า “วันนี้บุคลากรมีน้อยลง และเมื่อพิจารณาจากจำนวนที่มีอยู่ คนที่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันยิ่งน้อยลงไปอีก เรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา” ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไม automation จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยเป็นตัวช่วยให้องค์กรสามารถออโตเมทภาระงานซ้ำๆ ได้
โดยในการสัมมนา ยังได้มีการพูดถึงสิ่งที่ต้องทำ 3เรื่อง ประกอบด้วย
- องค์กรต้องจริงจังกับการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานที่มีอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าใจวัฒนธรรมและกระบวนการต่างๆ ในองค์กรอยู่แล้ว
- Automation จะเป็นตัวช่วยปิดช่องว่างเรื่องทาเลนท์ โดยนางซานดร้าระบุว่า “ในปี 2566 ออโตเมชันจะเป็นแนวทางที่องค์กรเลือกใช้เพื่อผลักดันและก้าวข้าม หรือลดช่องว่างเรื่องทาเลนท์ในองค์กร”
- พนักงานดิจิทัลและบทบาทของเทคโนโลยีในการสนับสนุนบุคลากร เราจะเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของ ‘พนักงานดิจิทัล’ ที่นำ AI และ automation มาช่วยออโตเมทภาระงานซ้ำๆ และเป็นที่ปรึกษาที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ
นายพอลมองว่า “เราต้องมองความเป็นจริงในทางบวก ว่า automation ไม่ได้นำสู่การลดจำนวนงาน แต่เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเสริมขีดความสามารถของมนุษย์ งานในอนาคตจะตกเป็นของคนที่เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ ทำงานร่วมกันในแง่การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณและการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลกำลังเพิ่มขึ้น ข้อมูลจะเติบโตอย่างรวดเร็วเท่าทวี และคนจะไม่สามารถก้าวทันได้ ทางเดียวที่จะช่วยรับมือข้อมูลได้คือการใช้ AI”
นอกจากนี้ นายพอล ยังได้ทิ้งท้ายถึงวิธีการปรับตัวของธุรกิจใน 3 ปัจจัยที่องค์กรต้องให้ความสำคัญในปี 2566
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจ (business velocity) ซีอีโอมองถึงการที่ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงทำให้การดำเนินกระบวนการต่างๆ ทางธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และมีความคลาดเคลื่อนน้อยลง และ automation คือตัวช่วยหนึ่งเดียวที่จะทำสิ่งนี้ให้เป็นจริง
การลดต้นทุน วันนี้มีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้ออย่างรุนแรง การที่มีแรงงานน้อยลงแปลว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงภาวะเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น และนี่คือสิ่งที่ซีอีโอต้องเผชิญ แนวทางเดียวที่จะช่วยลดปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อ (ตามที่คุณซานดร้าชี้ประเด็นไว้) คือการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย และการใช้ automation ก็นำสู่การลดต้นทุนได้ด้วยเช่นกัน
การยืดหยุ่นฟื้นตัวไว (Resilience) องค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต้องคิดในภาพใหญ่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยี และไม่จำกัดตัวเองอยู่ในกล่องที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตามโลกได้ทัน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป