จับตาบทบาท CDGS กลไกสำคัญสู่การแปลงบริการรัฐสู่ดิจิทัล

จับตาบทบาท CDGS กลไกสำคัญสู่การแปลงบริการรัฐสู่ดิจิทัล

CDGS

การเปลี่ยนผ่านบริการรัฐสู่ดิจิทัล นับเป็นความท้าทายของการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งที่แอคทีฟและไม่แอคทีฟ ภายใต้กฎที่หยุมหยิมของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีหลายรายต้องโบกมือลา แต่ไม่ใช่กับ CDGS ที่มีบทบาทของ System Integrator  ด้านเทคโนโลยีของภาครัฐในทุกกระทรวงมาอย่างเหนียวแน่นมากว่า 55 ปี แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องความสามารถของเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับ แต่เรื่องของความเข้าใจในกฎที่บังคับใช้ของแต่ละกระทรวง ก็เป็นประสบการณ์ที่หาตัวเทียบได้ยาก และนั่นก็เป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จนั่นเอง

วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสคุยกับ คุณปริญญา ผลพฤกษสกุล ผู้จัดการทั่ว บริษัท ซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด (CDGS) ที่ได้เข้ารับตำแหน่ง GM ในปีที่ผ่านมาช่วงวิกฤตโควิดพอดี ซึ่งต้องบอกเลยว่าแม้ก่อนร่วมงานกับ CDGS จะไม่ได้อยู่ในสายงานของ SI แต่ก็คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีมาก่อนหน้าอย่างโชกโชน คงต้องลองฟังดูว่า ความน่าสนใจของการเป็นตัวเลือกที่สำคัญของการแปลงข้อมูลของรัฐไปสู่ดิจิทัลและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยประสบการณ์นั้นจะมีแนวทางในการดำเนินงานหลังวิกฤตโควิด เพื่อนำพารัฐบาลไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบนั้น มีความท้าทายอย่างไร

คุณปริญญา ผลพฤกษสกุล ผู้จัดการทั่ว บริษัท ซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด (CDGS) กล่าวว่า ความน่าสนใจของบริษัท CDGS คือบริษัทนี้เป็นบริษัทในเครือของซีดีจีกรุ๊ป ที่นี่มีประสบการณ์เปิดมา 55 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2511 และเป็นบริษัทที่ทำงานกับภาครัฐวิสาหกิจมาโดยตลอดในฐานนะของ System Integrator ซึ่งภาพใหญ่ของบริการซีดีจีที่ทุกคนรับรู้ได้นั้นก็คือเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังของการบริการภาครัฐที่นับตั้งแต่การแจ้งเกิด การทำบัตรประชาชน จนถึงการแจ้งตาย เลยก็ว่าได้

CDGS จึงนับได้ว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตมาเคียงข้างการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ เป็น System Integrator ที่รับงานจากภาครัฐแล้วก็รัฐวิสาหกิจ และมีการทรานส์ฟอร์มมาเป็นระยะ จวบจนปัจจุบันเรามีอายุมากว่า 55 ปี ซึ่งบางคนก็เรียกเราว่า CDGS บางคนก็เรียกว่า CDG System แต่ถ้าชื่อทางการของเรานั้นก็คือ ซีดีจี ซิสเต็มส์

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปีที่แล้วที่ผมได้เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง ก็ได้พบกับลูกค้าหลายท่าน ได้ฟังเรื่องราวเมื่อในอดีตและสิ่งที่เขาอยากเห็นในอนาคต โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีนัยยะสำคัญมากของการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่งบประมาณของลูกค้า วิธีการทำงานของลูกค้า ทั้งหมดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปหมด ด้วยความที่เป็นผู้บริหารคนใหม่ยุคใหม่ เรื่องที่ท้าทายในการนำพาองค์กรที่มีพนักงานประสบการณ์สูงมาก เนื่องจากเราเปิดมา 55 ปีแล้ว นั่นหมายความว่าเรามีพนักงานที่มีประสบการณ์เกือบ 55 ปีอยู่เป็นจำนวนมาก

องค์ความรู้ที่เราสะสมมาตั้งแต่อดีต จนถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในอนาคต จะต้องถูกหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากทุกรุ่นอายุของประสบการณ์พนักงานที่เรามี เจเนอเรชั่น ด้วยเราอยู่ในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปัญหา Y2K มาจนถึงเรื่องวิกฤตต้มยำกุ้ง รวมถึงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาทุกอย่างของภาครัฐและวิสาหกิจเราอยู่เคียงคู่มาตลอด สิ่งพวกนี้คือการบ่มเพาะองค์ความรู้ที่หาไม่ได้จากบริษัทอื่น

ปัจจุบันการทำงานของเราเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเราต้องมองหาโมเดลบริการใหม่ ๆ เพื่อรองรับงานลูกค้า ซึ่งก็ต้องเป็นการมองไปข้างหน้าให้ไกลแล้วเรียนรู้ไปกับลูกค้าอาทิเช่นในขณะที่ทุกคนมองเรื่อง New Normal แต่เราต้องมองไปที่ Next Normal เราต้องมองไปให้ไวกว่า และเราต้องเป็นผู้นำในแง่ของเทคโนโลยีและในแง่ของความต้องการของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

ความยากง่ายของการเป็นคู่คิดด้านเทคโนโลยีกับภาครัฐ

คุณปริญญา กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามนโยบายรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สอดรับการทำงานที่สอดคล้องกัน ความยากคือการต้องสามารถทำเทคโนโลยีขึ้นมารองรับนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้ทันท่วงที ขณะที่ในด้านของความต้องการด้านความยั่งยืนทั้งหลาย เพื่อส่งเสริมให้การทำธุรกิจมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจะตอบโจทย์ตรงนี้ให้กับหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจได้อย่างไร

ตัวอย่างเช่นการบริการ ที่ช่วยทำให้ลดการเดินทางและลดความซ้ำซ้อนในแง่ของการติดต่อภาครัฐ ด้วยการทำเทคโนโลยีให้เกิดการใช้งานแบบ Paperless ให้ครบวงจร เพื่อให้เกิดการใช้กระดาษให้น้อยที่สุด ตลอดจนในส่วนของการเดินทางครั้งเดียวก็ควรจะต้องเข้ารับบริการของรัฐได้เกือบทุกอย่าง หรือการทำผ่านระบบออนไลน์ที่จะต้องมีความปลอดภัยในการใช้งานและครอบคลุมทุกบริการของรัฐ

“แม้ว่าเป้าหมายจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่ส่วนที่เราอยากเห็นก็คือการที่หน่วยงานภาครัฐสามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ไม่ต้องใช้กระดาษ เลยตามแผนพัฒนาชาติ 20 ปี”

หลังโควิดความต้องการของลูกค้า ต้องการอะไรที่รวดเร็ว สามารถขึ้นโครงการได้เร็วขึ้น และสิ่งที่เราสังเกตุเห็นก็คือลูกค้ามีโครงการมากขึ้นควบคู่กับความต้องการให้เกิดโครงการที่เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ผลักดันโครงการก็จะต้องไม่สูงมากเกินไป บางครั้งทำให้ลูกค้าต้องมองหาบริการแบบ As a Service ซึ่งบริการ As a Service ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเป้าหมายรูปแบบการให้บริการของ CDGS ในอนาคต ซึ่งเราจะมีบริการแบบนี้เป็นบางส่วนให้กับลูกค้า

บริการใหม่ของ CDGS ที่จะเปิดภายในปีนี้

ปีนี้เราจะเปิดบริการใหม่ในช่วงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยจะมีการจัดงานใหญ่ประจำปีของCDGS ในช่วงเดือนกรกฎาคม ภายใต้ชื่องาน GOV IT ซึ่งในงานจะมีการพูดถึงสินค้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะออกบริการ As a Service โดยจะเริ่มประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าภาครัฐ ให้ได้รู้จักกับบริการใหม่ ๆ ที่จะช่วยทำให้ภาครัฐ ทรานส์ฟอร์มบริการไปสู่ดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ซึ่งงานครั้งนี้จะจัดเป็นครั้งที่ 10 โดยครั้งล่าสุดมีการจัดขึ้นในปี 2019 หลังจากนั้นก็เกิดสถานการณ์โควิด แล้วก็ห่างหายไปประมาณ 3-4 ปี การกลับมาจัดอีกครั้งในปี 2023 ช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ เราได้เชิญหน่วยงานภาครัฐมาให้ความรู้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการบูรนาการบิ๊กดาต้าทั้งหลาย เพื่อแปลงไปสู่ดิจิทัลดาต้า และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการพัฒนาบริการของรัฐได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยมีองค์กรตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา อย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยนอกจากที่เราจะทำระบบสารสนเทศแล้วเราได้รับงานจากลูกค้าด้านการทำประชาสัมพันธ์ เนื่องจากหน่วยงานนี้มีข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน หรือการผลิตไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งมีข้อมูลของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งทั้ง EGAT, MEA, PEA และ ปตท. ที่มีอยู่เยอะมาก และข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการถูกนำมาคำนวณค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปรที่ถูกนำมาคิดค่าไฟฟ้าของภาคประชาชน

ปรากฏว่าคนไม่ค่อยรู้ว่าหน่วยงานนี้มีบทบาทนี้ และสงสัยว่าหน่วยงานนี้กำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งที่จริงแล้ว บทบาทของ กกพ. คือการรวบรวมข้อมูล เรื่องของค่าไฟว่าต้องใช้ตัวแปลอะไรมาคำนวณบ้าง หรืออัตราการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศชาติเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้หน่วยงานนี้มีข้อมูลที่เยอะมาก CDGS จึงเข้าไปทำในส่วนของการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเราเอาข้อมูลหมดมาจัดสรรในแง่ของ การวิเคราะห์ข้อมูล ให้ออกมาเป็นการแสดงผลแบบแดชบอร์ด เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้ผู้บริหารได้ใช้ประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น การทำครั้งนี้เองก็ได้มีการทำประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ที่อยู่ในธุรกิจพลังงาน ได้เข้าใจถึงงานของ กกพ. จากงานที่เราทำขึ้นมา ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งบทบาทของเรา ด้านการนำเสนออะไรใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า และเป็นการนำพาองค์กรไปสู่รูปแบบบริการในมิติอื่น ๆ มากขึ้น

และถือว่าเป็นอีกหนึ่งความคิดริเริ่มของเราที่ช่วยลูกค้าได้ ซึ่งในวันนี้ต่อให้ลูกค้ามีดาต้าเยอะขนาดไหนถ้าไม่สามารถทำให้คนเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลได้ ประโยชน์ที่ได้จากข้อมูลนั้นก็จะได้น้อยลง เราจึงเพิ่มในส่วนของตรงนี้ขึ้นมาเพื่อทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจะเน้นไปที่การวิเคราะห์และพยากรณ์อนาคตควบคู่กันไป

ความตื่นตัวทางด้านเทคโนโลยีของภาครัฐ มีมากน้อยแค่ไหน

ในส่วนของภาครัฐนั้นมีการตื่นตัวเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมีหลากหลายรูปแบบ บางทีความเหมาะสมของการที่ภาครัฐจะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่ตรงไหน เราต้องเป็นคนช่วยนำเสนอให้กับภาครัฐ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงจัดงาน GOV IT ทุก ๆ ปี

โดยในปีนี้เทรนด์ของบิ๊กดาต้าที่จะมีขนาดที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ความท้าทายคือเราจะทำให้ข้อมูลเหล่านั้นฉลาดขึ้นมาได้อย่างไร ดังนั้นการมองไปที่ Next Normal ณ วันนี้เราต้องมองไปให้ไกลกว่าความเข้าใจของลูกค้า ซึ่งการทำดาต้าให้เร็วใคร ๆ ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจในบริบทของดาต้าและการทำให้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานถูกเรียกใช้งานได้อย่างลื่นไหลอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า หรือการที่จะไปหาข้อมูลมาจากหน่วยงานใด มีกฎหมายใดเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการดาต้านั้นได้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องใช้ประสบการณ์

ซึ่ง CDGS มีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์กว่า 55 ปี ที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลง ของกฎระเบียบภาครัฐตลอดเวลาทำให้รู้ว่าข้อมูลที่ต้องการอยู่กับองค์กรใด และมีเส้นทางกฎระเบียบหรือข้อบังคับของการเชื่อมต่อข้อมูลนั้นอย่างไร ทำให้ CDGS สามารถดึงข้อมูลและสร้างเวิร์คโฟร์ลของข้อมูลชุดนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ ในการนำดาต้ามาใช้ประโยชน์ได้แบบเรียลไทม์

แม้ว่าการแข่งขันด้านการให้บริการเทคโนโลยีกับภาครัฐนั้นจะมีคู่แข่งเข้ามาเป็นระยะ แต่ว่าความสามารถของคู่แข่งก็จะมีแค่เฉพาะส่วนซึ่งมาแล้วก็ไป ทำให้ CDGS ที่มีบริการที่ครอบคลุมมากกว่าสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมทั้งการเป็นเพื่อนคู่คิดของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าหน่วยงานรัฐเป็นบลูโอเชี่ยนของโลกเทคโนโลยี แต่จริง ๆ แล้วความเข้าใจในเงื่อนไขข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่จะทำให้การดึงข้อมูลมาใช้ประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าคนที่ไม่มีพื้นฐานของการทำข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐอาจจะไปไม่ถูกว่าข้อมูลใดอยู่ที่หน่วยงานไหน แล้วจะดึงมาใช้ได้อย่างไรโดยจะต้องไม่ติดขัดข้อกฎหมายระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะทางที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการจัดสรรข้อมูล เพราะฉะนั้นความเข้าใจในแง่ของกฎระเบียบภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

โดยส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยีของรัฐที่มีการใช้งานอยู่เกิดขึ้นเพราะความจำเป็นต้องใช้ แต่ถามว่าเขาอยากใช้ไหม ผมว่ามันก็อยู่ที่ฟังก์ชันงาน เพราะบางอย่าง อย่าลืมว่ามีคนทำเทคโนโลยีให้รัฐใช้หลายคน และมีเทคโนโลยีหลายอย่าง บางอย่างก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ตั้งแต่วันแรกแล้วก็โดนพับโครงการไป แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่อยากจะได้แต่ก็ไม่ได้ใช้ ทำให้การใช้งานเทคโนโลยีของภาครัฐถูกจำกัดอยู่แค่จำเป็นต้องใช้

“โดยตลอด 55 ปีที่ผ่านมาเราให้บริการหน่วยงานภาครัฐครบทุกกระทรวง แม้ว่าจะไม่ครบทุกกรมกองแต่เราก็เป็น หนึ่งในผู้นำของการให้บริการภาครัฐที่ครอบคลุมเกือบทั้งหมด”

เทคโนโลยีอะไรที่จะเข้าไปเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ

สิ่งที่หน่วยงานรัฐมองหาคือความทันสมัยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเชื่อว่า ในปีนี้ 1.บริการ As a Service มาแน่นอน โดยบริการ Software as a Service สำหรับภาครัฐจะเกิดขึ้น 2.ระบบ Cloud จะเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าให้การศึกษาอยู่เยอะมาก ว่าควรใช้แบบ Public Cloud หรือ Private Cloud แม้ว่าจะมีการสร้าง Private Cloud เองในบางหน่วยงาน อย่างเช่นกระทรวงสาธารณสุข หรือจะเป็นการใช้ Cloud ของหน่วยงานภาครัฐเอง อย่าง NT หรือ GNCC แต่สิ่งที่ ต้องให้ความสำคัญก็คือใครจะเป็นผู้ดูแลระบบคลาวด์

การพิจารณาใช้คลาวด์ของภาครัฐ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคนที่นำระบบขึ้นคลาวด์และดูแลระบบนั้นคือใคร เพราะว่าต่อให้เป็น NT ก็ยังไม่สามารถดูแลในส่วนนั้นได้ เพราะฉะนั้นนี่คือความท้าทายของลูกค้า ว่าขึ้น Cloud ไปแล้ว ใครจะดูแลซึ่งหากลูกค้าจะดูแลเองก็ต้องมีศักยภาพมากพอ หรือจะจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแล ก็จะต้องเป็นหน่วยงานที่มีความปลอดภัยและมีศักยภาพในการดูแล

มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากถ้าเราจะไปที่คลาวด์ไปที่บิ๊กดาต้า ก็จะต้องมีการเตรียมการรองรับระดับหนึ่งเลย ซึ่งในแง่ของคลาวด์ก็จะมีข้อดีเรื่องของการลงทุนครั้งแรกน้อย ก็คือเป็นการลงทุนแบบ As a Service แต่ก็อาจจะมีเรื่องของความเสี่ยงด้านการเข้าไม่ถึงข้อมูล ซึ่งก็จะมีวิธีการลดความเสี่ยงด้วยการทำเป็นไฮบริดคลาวด์ ซึ่งหมายถึงบางส่วนเก็บไว้ที่ เซิร์ฟเวอร์ของสำนักงานและบางส่วนเก็บไว้ที่คลาวด์ :ซึ่งก็อยู่ที่การทำ Road Maps ในการจัดการข้อมูล เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ไม่ได้มีอะไรที่ถูกหมดหรือไม่ดีหมดแต่ก็เป็นการถูก ณ เวลาหนึ่ง หรือ ดีที่สุด ณ เวลาหนึ่ง แต่ไม่ใช่ดีที่สุดสำหรับทุกช่วงเวลา

เป้าหมายที่ท้าทายของ CDGS

ปีนี้ซีดีจีเอสตั้งเป้าที่จะอยู่กับลูกค้าภาครัฐเช่นเดิม ด้วยกลยุทธ์สำคัญไปสู่เป้าหมายของ “การเติบโตอย่างก้าวกระโดด” ด้วยเทคโนโลยีที่เป็น Core หลักของเรา ผสมผสานกับประสบการณ์ที่เราสั่งสมมารวมถึงพนักงานรุ่นใหม่ ๆ ที่เรารับเข้ามา ซึ่งตอนนี้เรามีพนักงานมากกว่า 200 คน และจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ในแต่ละปี แต่เนื่องจากว่าหน่วยงานรัฐไม่ได้มีความแน่วแน่ของเรื่องงบประมาณ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้ตั้งเป้าหมายในแง่ของงบประมาณที่จะได้ แต่มองถึงสิ่งที่เราจะนำเสนอมากกว่า ว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีไปได้ถึงขนาดไหนด้วยงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด ยกตัวอย่างเช่นบริการ Software as a Service ที่จะเกิดขึ้นในช่วง ปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ สิ่งนี้จะเป็นเรื่องที่เราโฟกัสมากกว่า

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เรามีการปรับตัวได้เนื่องจากก่อนเกิดโควิด เรามีนโยบาย Work from Anywhere มาก่อน ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด จึงทำให้เรามีความพร้อมให้กับพนักงานที่จะเข้าถึงระบบรีโมทออฟฟิศได้จากทุกที่ ดังนั้นในแง่ของการทำงานช่วงโควิด CDGS จึงไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้น ขณะที่ในแง่ของการเติบโตช่วงโควิดบางส่วนก็เติบโตดี แต่บางส่วนก็คงที่ ซึ่งในภาพรวมก็ยังถือว่าเติบโตต่อเนื่อง

ในแง่ของการลงทุนด้านเทคโนโลยีของภาครัฐ ยังมีโครงการใหม่เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เม็ดเงินที่ลงอาจจะยังไม่เพียงพอกับโครงการที่จะทำ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะจัดทำแผนเป็นรายปีโดยสามารถดูได้จากแผนยุทธศาสตร์ ทางด้านระบบสาระสนเทศของแต่ละหน่วยงานบนเว็บไซต์ ถ้าเราอ่านตามแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงานรวมกันแล้ว เราจะเห็นการลงทุนแบบมหาศาล เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่าเราจะทำอะไรก่อนเป็นเรื่องสำคัญ

โดยเรามีเป้าหมายที่สำคัญ คือการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ผู้นำทางด้านไอทีหรือระบบสารสนเทศ และเป้าหมายที่ 2 คือเราต้องไปได้เร็ว และเป้าหมายที่ 3 คือเราต้องทำเทคโนโลยีให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน ใช้งานได้จริง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ที่สำคัญ 3 ด้านแบ่งเป็น 1. ด้านบริการ As a Service 2. ด้านการนำเสนอเทคโนโลยีที่เรียนรู้ใหม่ใหม่ให้กับลูกค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าไปถึงเป้าหมายในอนาคตได้เร็วขึ้น และ 3. การพัฒนา Ai เพื่อเข้ามาช่วยด้านการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า

Related Posts