TCELS เร่งส่งเสริมสมุนไพรสกัด หวังแบ่งแชร์ตลาดการรักษาแสนล้าน

TCELS เร่งส่งเสริมสมุนไพรสกัด หวังแบ่งแชร์ตลาดการรักษาแสนล้าน

TCELS

TCELS เร่งส่งเสริมเอสเอ็มอีด้านศักยภาพการสกัดสมุนไพรไทย หวังพัฒนาสู่ฮับสารสกัดสมุนไทยทางการแพทย์ของภูมิภาค ประกาศให้ทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีในการขยายตลาดมากขึ้น เชื่อพลิกเกมตลาดนำเข้าสารสกัดแสนล้านตามแผนการพัฒนา พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสู่ระบบงบประมาณการประกันสุขภาพแห่งชาติแบบจ่ายตามรายการ หวังขยับเค้กงบยารายหัวเพิ่มจาก 15 บาทเป็น 30 บาท หวังโอกาสการเข้าตลาดภาครัฐที่เพิ่มขึ้นของยาสมุนไพร

นายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอดีตประธานกรรมการ ศลช. กล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขที่เกี่ยวข้องจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะเห็นว่าตัวเลขของการใช้สารสกัดสมุนไพรไทยสูงสูงอยู่ตรงไหน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ส่วนที่เป็นยาจริง  ๆ จะรองลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นยาที่ใช้ในระบบบริการสุขภาพของภาครัฐก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะว่าบริการสุขภาพของภาครัฐนั้นเติบโตขึ้นมาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนั้นทั้งผู้อำนวยการ หมอ เภสัชกร หรือบุคลากรต่างๆก็จะคุ้นชิน กลับยาแผนปัจจุบัน ทำให้ยาสมุนไพรจะไม่ค่อยถูกใช้ในการรักษาของแพทย์ปัจจุบันเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการใช้โดยร้านขายยา หรือการซื้อกินซื้อใช้ของผู้บริโภคเองมากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น การซื้อฟ้าทะลายโจรมาเก็บไว้กินเมื่อเป็นไข้ หรือการซื้อขมิ้นชันมากินแก้อาการเป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องของชาวบ้านที่ใช้กันเองเยอะ ร้านขายยาก็ขายได้เยอะ แต่ในส่วนของเงินงบประมาณภาครัฐที่ต้องจ่ายโดยวิธีการหลักประกันสุขภาพ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกรมบัญชีกลางที่ดูแลสวัสดิการข้าราชการ หรือสำนักงานประกันสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้มีข้อจำกัดตรงที่ว่าผู้ให้บริการเกือบทั้งหมดเป็นเป็นแผนปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่คุ้นชินกับยาสมุนไพร แม้ว่าหลายหน่วยงานจะเข้ามาสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะบัตรทองที่มีงบประมาณแยกต่างหากสำหรับการเลือกใช้วิธีรักษาแบบการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแล้วก็ตาม

TCELS
นายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอดีตประธานกรรมการ ศลช.

แผนส่งเสริมการใช้สมุนไพรในการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ในปีที่แล้วมีการวางงบประมาณด้านการแพทย์แผนไทยไว้ที่ 1,500 ล้านบาท แต่ใน 1500 ล้านบาทไม่ได้มีแค่ยาสมุนไพรอย่างเดียว น่าจะเป็นยาสมุนไพรอยู่แค่500-600 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือก็จะเป็นนวด อบ ประคบ ฝังเข็มต่าง ๆ ซึ่งจะใช้เงินเยอะกว่า แต่เรื่องสมุนไพรอีกปัญหาคือการใช้งบประมาณได้ไม่หมด เพราะว่าคนที่จะสั่งจ่ายยาสมุนไพรเหล่านี้ก็จะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคแผนปัจจุบัน ทำให้ตอนนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง กำลังเปลี่ยนวิธีการสนับสนุนเงินกับยาสมุนไพรใหม่ แทนที่จะจ่ายเหมาไปให้หน่วยบริการก็จะเปลี่ยนเป็นการจ่ายเป็นตามรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลัก ตามการจ่ายยาจริงของแพทย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้น

ขณะที่หลักในการตั้งราคายาสมุนไพรก็จะทำให้มีมาจิ้นที่สูงกว่ายาแผนปัจจุบัน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น และดึงดูดให้สถานบริการหันกลับมาใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น รวมทั้งให้ร้านขายยาจ่ายยาสมุนไพรมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ร้านขายยาสามารถรักษา 16 โรคได้ทางบัตรทอง ก็คาดว่าจะสามารถใช้เงินจุงใจกับร้านขายยาที่สามารถขายยาสมุนไพรได้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นแนวทางการส่งเสริมเรื่องของยาสมุนไพร

ทั้งนี้รูปแบบการการจ่ายงบประมาณยาสมุนไพรจากเดิมที่เค้าให้เหมาจ่ายแบบรายหัวราว15 บาทต่อคน พอเปลี่ยนมาเป็นการจ่ายแบบรายการตามการรักษาก็จะเพิ่มงบประมาณขึ้นมาเป็น 30 บาทต่อคน แต่ก็อย่างที่บอกว่าพอเป็นรายการแล้วก็จะไม่ได้แยก ซึ่งก็จะมีรวมทั้งนวดประคบ อบ ฝังเข็ม หรืออื่น ๆ ตามกระบวนการรักษาแบบแพทย์แผนไทยทั้งหมด ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัว 30 บาท จะต้องใช้งบประมาณราว 1500 ล้านบาท ซึ่งถ้ามองถึงตัวเลขสมุนไพรไทยจริง ๆ อาจจะมีไปได้ถึงหลายหมื่นล้าน งบประมาณยาสมุนไพรเพียงแค่ 1,500 ล้านบาทก็ถือว่าเล็กนิดเดียว แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้ามีการใช้มาก ๆ งบประมาณก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามการใช้งาน

โดยปีงบประมาณหน้าจะเริ่มมีการใช้จ่ายแบบรายการ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ทีนี้สมุนไพรจะไม่อยู่ในรายการของผลิตภัณฑ์ที่จดสิทธิบัตรได้ เพราะสิ่งที่ได้จากสมุนไพรเป็นการค้นพบไม่ได้เป็นสิ่งที่คนประดิษฐ์ขึ้นมา ดังนั้นจึงนำไปจดสิทธิบัตรไม่ได้ ยกเว้นว่าคุณจะเอาไปทำอะไรบางอย่างจนกระทั่งสามารถจดสิทธิบัตรได้ เช่นการสกัดออกมาแล้วไปผสมเพิ่มสัดส่วนกับยาตัวนั้นตัวนี้ ทำให้เกิดเป็นสูตรยาเฉพาะขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็ต้องไปลงทุนวิจัยและพัฒนาผ่านขั้นตอนกระบวนการทางยาทั้งในคนและในสัตว์ และต้องใช้เงินลงทุนเป็นหลักร้อยล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการของเราไม่มีขีดความสามารถทางด้านนั้น และก็ไม่ง่ายสำหรับผู้ประกอบการในไทย

การพัฒนาหรือยกระดับสมุนไพรไทยเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ

คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้รักษาทางยาและเข้าสู่ทะเบียนยาขอหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้นั้น จะต้องมี 1.ต้องทำให้ได้มาตรฐาน คุณภาพดี และปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งก็ไม่พ้นที่จะต้องมีผลการขึ้นทะเบียน อย. ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่มาตรฐานที่ดีที่สุดแต่ก็ดีที่สุดเท่าที่เรามีในตอนนี้ 2.จะต้องพร้อมที่จะแข่งขันเพื่อเข้าสู่กระบวนการของในแต่ละภาครัฐ ซึ่งก็มีผู้แข่งขันอยู่เยอะมากรวมทั้งหน่วยบริการของภาครัฐ ทั้งสถานีอนามัยหรือรพสต. ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เขาใช้วิธีการปลูกสมุนไพรเอง เรื่องเหล่านี้ก็เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการพอสมควร จริง ๆ ถ้าเผื่อมียาที่ได้คุณภาพ ราคาไม่แพงมาก ก็จะลดงบลงทุนในการปลูกเองได้ แต่ว่านโยบายของกระทรวงก็อยากให้ชาวบ้านช่วยตัวเองได้ ปลูกสมุนไพรเองใช้สมุนไพรเองในครัวเรือนเป็น อาหารบ้างแล้วก็เป็นยาด้วย เช่นอาการท้องอืดท้องเฟ้อก็กินขมิ้นชันไม่ต้องไปกินยาแผนปัจจุบัน

ในขณะที่สมุนไพรดาวเด่นของประเทศในปีนี้ก็จะเป็นในเรื่องของสมุนไพรเสริมอาหารและกลุ่มเวชสำอาง เช่นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร งาดำ ซึ่งจะเห็นว่ามีโฆษณาน้ำมันงาดำและขายกันเยอะมาก ซึ่งถ้าจะเอาเงินก็ต้องหลอกลวงผู้บริโภคในการโฆษณาเว่อร์เกินความเป็นจริง ซึ่งก็จะเสี่ยงต่อการ ที่ อย.จะเล่นงาน ลองไปดูได้ในรายการทีวีช่องที่มีการโฆษณาต่าง ๆ มีการบอกสรรพคุณโฆษณาโรคที่คนเป็นกันเยอะ ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถรักษาได้ พวกนี้ถือว่าหลอกลวงทั้งนั้น แต่ว่าก็ขายได้เงิน

ซึ่งการทำสมุนไพรให้เป็นยาจริง ๆ นั้นต้องผ่านการทดสอบ ทั้งในสัตว์ทดลองหรือในคนระดับหนึ่งว่ามันปลอดภัยถึงจะนำมากินได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการลงทุนในการศึกษาวิจัยพอสมควร ซึ่งพอเป็นยาแล้วการไปโฆษณามากเกินเหตุมันก็ไม่ได้ แล้วก็อุปสรรคของการสั่งจ่ายยาของแพทย์อีก เพราะว่าแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย มีแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน เช่น ฝรั่งขี้นกในตำราแพทย์แผนไทยบอกว่าใช้ลดไข้ พอหมอแผนปัจจุบันมีคนไข้แล้วลองให้กินมะระขี้นกดู เพื่อหวังว่าจะช่วยลดไข้ แต่ก็พบว่ามันไม่สามารถลดไข้ได้ ก็รู้สึกว่าโดนหลอกลวงเพราะไม่สามารถลดไข้ได้จริง ทั้งที่จริง ๆ แล้วตำราของแพทย์แผนไทยเป็นคนละตำรา ในความหมายของคำว่า”ไข้”ของแพทย์แผนไทย หมายถึง “ไข้ร้อนใน” ที่จะวัดปรอทไม่ขึ้น เมื่อเกิดแผลร้อนในในปาก มะระขี้นกที่มีรสขมจะเป็นยาเย็นมันก็จะช่วยลดความร้อนในได้เป็นหลัก ซึ่งก็ต้องบอกว่ามันเป็นคนละศาสตร์เลย แต่จะบอกว่าใครถูกใครผิดก็คงไม่ได้

อย่างผมที่เป็นประธาน บัญชียาหลักแห่งชาติตอนที่ผมเป็นโควิด เค้าก็จะเอาโมโนพิราเวียมาให้ผมกิน มันยังไม่อยู่ในบัญชียาหลัก ผมก็ไม่กิน เมื่อไอก็กินน้ำเยอะ ๆ แล้วพักผ่อน ซึ่งก็มีคนมาบอกผมว่าผมเป็นประธานบัญชียาหลักสมุนไพร มียาฟ้าทะลายโจรเข้าบัญชียาหลักสมุนไพรแล้วรักษาโควิดได้ งั้นผมก็ต้องกินสิ ผมก็เลยต้องลอง แต่กินอยู่ 2-3 วันแล้วก็ไม่เห็นได้ผลอะไร ผมก็เลยเลิกกินคนก็ถามว่าอย่างนี้ต้องถอนออกจากบัญชียาหลักไหม ผมก็บอกว่ามันอาจจะดีสำหรับคนบางคนก็ได้เราก็ไม่รู้ แต่เรารู้สึกเฉย ๆ เพราะว่าเราอาจจะกินช้าหรือกินไม่ถูกช่วงเวลาก็ได้ มันมีหลายปัจจัยเหลือเกินที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการจะกินยาสมุนไพร

ซึ่งถ้าคิดในหลักการของแพทย์แผนปัจจุบันก็ต้องไปทำการวิจัยอีกเยอะ แล้วก็มีคนไปทำการวิจัยว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดไม่ได้ผล แต่ก็มีคนออกมาท้วงติงว่าได้ผล ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะใช้ศาสตร์อะไรในการประเมิน ที่สำคัญที่สุดคือต้องมั่นใจว่าปลอดภัย และได้ผลตามตำราโบราณ ซึ่งมีการใช้ตามประสบการณ์กันมาเป็นร้อย ๆ ปี แล้วจึงเขียนออกมาเป็นตำรายาสมุนไพรโบราณ ซึ่งก็ถือว่ามีการทดลองในสัตว์หรือมนุษย์แบบที่ไม่ต้องเสียเงินมาเป็น 100 ล้านในการวิจัยและทดลอง แบบที่แพทย์แผนปัจจุบันต้องทำ ซึ่งเมื่อผู้เชี่ยวชาญทางด้านแพทย์แผนไทยบอกว่าตำรับยานี้โอเคมันก็คือโอเค ซึ่งก็ไม่ง่ายนะในการเอายาเข้าบัญชียาหลัก

TCELS
ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน หัวหน้าโครงการ

บทบาทของ TCELS ทีเซลล์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านสมุนไพร

ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ตั้งแต่เราปรับบทบาทมาเป็นหน่วยงานให้ทุน ซึ่งนโยบายของบอร์ดก็ให้นโยบายมาว่าเราควรที่จะเน้น Nutraceutical ซึ่งหมายถึงอาหารที่เป็นยา เมื่อย่อลงมาอีกว่า แล้วถ้าประเทศไทยจะต้องทำยังไง ถึงจะได้สารสกัดต่าง ๆ ซึ่งถ้าเราจะพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นสมุนไพรมันจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนง่าย ๆ อย่างแรกก็คือที่เป็น Conventional หรือยาทั่วไปที่นำมาจากตำราแพทย์แผนไทยโบราณต่าง ๆ ที่มีการบันทึกไว้หมดเลย กลุ่มเหล่านี้ก็จะสามารถดำเนินการผลิตเป็นยาได้เลย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เอามาสกัดเป็นยาใหม่ มาผสมรวมเป็นสูตรยาใหม่ อันนี้ก็ต้องผ่านกระบวนการทดลอง ทดสอบใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะไม่ได้ตรงกับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในไทยเท่าไหร่

TCELS มีนโยบายเช่นนี้นับตั้งแต่บอร์ดท่านอาจารย์สุวิทย์เป็นประธาน ก็ได้ให้นโยบายไว้ว่า เราจะต้องมุ่งเน้นเรื่องของการส่งเสริมการให้ผู้ประกอบการทำ Commercialization นั่นคือการเอาไปขายให้ได้ เราเห็นข้อมูลว่าหากสามารถผลักดันยาสมุนไพรเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ หรือกลุ่มบริการสาธารณะได้ก่อน มันจะทำให้จุดเริ่มต้นสำหรับธุรกิจเติบโตได้ดี เพราะว่าถ้าสามารถเอาเข้าไปได้คนก็จะเริ่มใช้และเริ่มขยายออกไป แล้ว private Market ก็จะตามมา ซึ่ง TCELS ก็พยายามจะผลักดันให้ส่วนเหล่านี้เข้าไปได้

ส่วนของการจัดการให้ทุน เราก็จะเน้นในเรื่องของการทำ Commercializationเป็นหลัก เราจะไม่ได้ให้ทุนในเรื่องของการผลิตสกัดใหม่ เพราะว่ามันต้องเริ่มนานและกว่าจะได้ผลลัพธ์ก็จะไม่ทันการณ์ คือต้องเอาสิ่งที่มีมาต่อยอดได้ แล้วถ้าพูดถึงเชิงธุรกิจนิดหน่อยก็คือการเลือกต่อยอดกับยาที่มีความพร้อมสูงหรือในระดับCompetitive Level ซึ่งก็จะต้องผ่านกระบวนการทดลองอะไรมาแล้ว อย่างเช่นตอนนี้ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ การเอาสมุนไพรมาต่อยอดเพียงแค่ การตอกเม็ดยังไงเพื่อต่อยอดให้กลายเป็นกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานต่างประเทศ และสามารถทำตลาดออกไปสู่ต่างประเทศได้เป็นต้น

ปัจจุบันมีการให้ทุนยาสมุนไพรไปแล้วเท่าไหร่

จริง ๆ แล้วเรื่องของสมุนไพรต้องแยกว่าในส่วนของ TCELS จะให้ความสำคัญกับสมุนไพรที่สกัดแล้ว ซึ่งก็มีการให้ทุนสนับสนุนไปแล้วประมาณ 10 รายคิดเป็นมูลค่าราว 10 ล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา แต่การส่งเสริมในอนาคตก็ต้องขึ้นอยู่กับภาพรวมของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ TCELS อยู่ภายใต้ ว่าจะสามารถของบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐมาได้เท่าไหร่ แล้วถึงจะมาจัดสรรกัน

อีกทั้งเรื่องของสมุนไพรไทยยังมีการแบ่งออกมาเป็นของ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ซึ่งเป็นทางด้านเกษตรที่จะช่วยในการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร ในส่วนของ TCELS จะเน้นไปที่การ Commercialization ตามนโยบายของท่านสุวิทย์มาตั้งแต่แรกเลย แต่เราก็จะเน้นต่อไปว่าเราจะเอาเอสเอ็มอีด้านสมุนไพรไทยเข้าตลาด Public Sector ได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญซึ่งเราก็พยายามที่จะช่วยผลักดัน ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของเอกสาร การให้ทุนเพื่อทำให้ยาสมุนไพรเข้าสู่ตลาดให้ได้

ยกตัวอย่างเช่นกระชายขาวซึ่งมีสารสกัด 2 ตัวที่สำคัญ ที่นี้เค้าก็จะต้องหาวิธีทำการปรุงสารสกัด 2 ตัวนี้ออกมาเป็นยา เพื่อให้ได้รับการรับรองความเป็นยาให้ได้ ซึ่งก็จะต้องมีการทดสอบ ทดลองเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลและปลอดภัย ซึ่งหากสามารถทำได้จริง โดยการนำสารสกัด 2 ตัวที่ในทางธรรมชาติแล้ว มันมีสัดส่วนยกตัวอย่างเช่น 60 40 แต่ว่าเมื่อวิจัยแล้วพบว่า การให้สารทางยาเมื่อเปลี่ยนเป็น 30/70 จะให้คุณสมบัติทางยาที่ดีกว่า เขาก็ไปสกัดสารเหล่านี้ออกมาแล้วก็ผสมให้ได้ 30/70 แล้วก็เอาไปวิจัยศึกษาเพื่อบอกว่าได้ผลลัพธ์ดีกว่าการกินตามธรรมชาติแบบนี้ก็ทำให้เขาจดสิทธิบัตรได้ เพราะตามธรรมชาติแล้วมันเป็นสัดส่วน 60/40

ด้านนายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กล่าวเสริม อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างที่ยกให้ดูเท่านั้น แต่ว่ากระบวนการเหล่านี้ก็จะต้องลงทุน มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของมหาลัยมหิดลที่เขาทำกันอยู่ แต่ก็ผมก็ไม่รู้ว่าเขาไปถึงไหนแล้ว ถ้าทำแบบนี้ได้แล้วได้ผลจริง ก็น่าจะทำให้สารสกัดเหล่านี้กลายมาเป็นยาแผนปัจจุบันได้ ซึ่งขั้นตอนต่อมาก็คือการให้ความรู้กับแพทย์ เพื่อผลักดันให้หมอใช้ แล้วถ้ามันได้ผลดีจริง ๆ แล้วหมอสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยมันก็จะขายได้เยอะมาก อาจจะได้ 1,000 ล้าน 10,000 ล้านบาทเลยก็ได้ เพราะว่าไม่ได้ขายแค่ในประเทศไทย ต่างประเทศก็สามารถเอาไปขายได้ มันมีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่เป็นตัวยาสกัดมาจากสมุนไพรและนำออกไปขายทั่วโลก แต่ว่ารายเล็กรายน้อยของเราก็คงไม่สามารถทำแบบนั้นได้

TCELS
ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง

แนวทางการสนับสนุนงบประมาณสเอสเอ็มอีด้านสมุนไพร

ด้านดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณในปีนี้จะเน้นในกลุ่มที่เรียกว่า Research Neutralization ซึ่งก็คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เข้าตลาดแล้ว โดยเราต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายตลาด ด้วยกลไกของการสนับสนุนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่เป็นนวัตกรรมที่ได้ทะเบียนใหม่ของ อย. ที่เพิ่งเข้าตลาดไม่เกินหนึ่งปี ซึ่งก็จะเป็นการขอทุนเพื่อการทำ Pre-Marketing หรือการทดลองตลาด จากนั้นก็เป็นการเก็บข้อมูลทางการตลาดต่าง ๆ เพื่อวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด จนถึงการจำหน่ายจริง และการขยายผล

เพื่อเป็นการช่วยให้เขาตั้งไข่ได้ ซึ่งถ้าเป็นนวัตกรรมใหม่จริง ๆ มันจะยังไม่เป็นที่รู้จัก ต้องใช้พลังในการผลักดันตลาดเยอะมาก การทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จะช่วยให้เขาสามารถขยายตลาดในวงกว้างได้ โดยงบประมาณจะเป็นในลักษณะ Matching ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ ถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่มีรายได้แล้วก็จะแมตช์ชิ่ง 50% โดยแบ่งเป็น In-kind ที่ไม่ได้ใช้เงินอาจจะเป็นการใช้ Facility หรือการเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา คิดเป็นมูลค่าราว 20% และ In-Cash ซึ่งเป็นเงินอีกราว 30% ขึ้นอยู่กับการตกลง

ขณะที่กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่เข้าตลาดแล้ว ทำตลาดได้แล้ว แต่ต้องการที่จะอัพเกรด ต้องการที่จะให้มีความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น โดยจะมีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้วหรือต้องการขยายกำลังการผลิต ซึ่งรูปแบบการให้การสนับสนุนก็จะเป็นเหมือนเดิม Matching 50%

โดยในภาพรวมงบประมาณของโครงการ ไม่ได้มีการตั้งเพดานให้เงินูงสุดไว้ แต่จะเป็นการพิจารณาจากความต้องการของผู้ประกอบการจริงๆ หรือความยากง่ายของนวัตกรรมนั้น ๆ ภายใต้เงินงบประมาณที่เรามี

ซึ่งในปี 2567 เราก็คาดหวังที่จะให้ผู้ประกอบการราว 10 รายได้รับเงินสนับสนุน โดยสมุนไพรต้นน้ำเราตั้งเป้าไว้ที่ 15 ตัว ที่เป็น product แชมป์เปี้ยน แต่ในปลายน้ำยังหาของได้ยากมาก ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นตัวไหนนะ ขอให้มีศักยภาพในการทำตลาดได้ โดยในปัจจุบันมีสมุนไพร 3 ตัวที่มีข้อมูลมากที่สุด ก็จะมีฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ ส่วนที่เหลือก็จะเป็น กันชง กัญชา บัวบก  กระเจี๊ยบ แล้วก็อีกหลายอย่าง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของ TCELS ได้

โดยธุรกิจ เอสเอ็มอีตามนิยามของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) สามารถเข้ามาของบประมาณสนับสนุนได้ ซึ่งจะเป็นโครงการปีต่อปี แต่ถ้าเรามองว่ามีศักยภาพมากก็อาจจะขอเป็น Multi-Years ได้ ปัจจุบันเราเพิ่งลองได้เพียงแค่ปีเดียว ซึ่งก็หาของยากมาก จึงทำให้เราออกทุนได้น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนที่จะเข้ามาขอทุนก็จะเป็นนักวิจัย แล้วก็คิดว่าของของเขานั้นพร้อมแล้ว พร้อมขึ้นทะเบียน พร้อมที่จะเข้าตลาด แต่ในความเป็นจริงแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ยังไม่สามารถขึ้นสู่ตลาดได้ ทำให้ปีนี้เราเน้นไปที่กลุ่มนักธุรกิจสมุนไพรที่ต้องการขยายตลาด

เราอยากให้อุตสาหกรรมสมุนไพรของเรา โดยเฉพาะสารสกัด เติบโตขึ้น อย่างน้อยเราควรผลิตได้เองไม่ต้องไปนำเข้า เพราะว่าปี ๆ หนึ่งเรานำเข้าเยอะมาก เป็นมูลค่าสูงมาก ๆ แล้วอยากให้มีโรงงานสกัดที่ไม่ใช่สกัดเพื่อตัวเอง แต่เป็นธุรกิจสกัดเพื่อจำหน่าย แล้วก็อยากให้ประเทศไทยเป็นฮับของสารสกัดด้านสมุนไพร เพราะเรามีสมุนไพรดี ๆ เยอะมาก ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยก็มีธุรกิจสกัดสารสมุนไพรอยู่แล้วประมาณ 10 โรงงาน แต่ส่วนใหญ่ก็ทำสกัดเองเพื่อใช้เอง ทำให้มูลค่าของการนำเข้ามีมูลค่าสูงถึงราว 1 แสนล้านบาท เนื่องจากโรงงานผลิตส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องนำเข้าสารสกัด หากเทียบสัดส่วนแล้วการนำเข้าสารสกัดสมุนไพร มีมูลค่าสูงถึง 95% ซึ่งก็อยากให้มีการผลิตและใช้เองได้ไม่น้อยกว่า 10% และขยับขึ้นไปสูงถึง 30% ในอนาคต

ซึ่งการมีเป้าหมายในการเป็น HUB ของสารสกัดด้านสมุนไพรในภูมิภาค อย่างน้อยเราจะต้องลดการนำเข้าให้ได้ 30% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะสอดคล้องตามแผนพัฒนาแผนที่ 2 ซึ่งเราก็จะต้องมีพาร์ทเนอร์และกลยุทธ์ โดยเราได้จัดเตรียมทำกลยุทธ์ไว้แล้ว และก็มีความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์หลายส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและอย. ปัจจุบันเราก็มีการทำแผนไว้แล้ว ซึ่ง TCELS ก็เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กนิดเดียวที่อยู่ในแผนใหญ่แห่งชาติ เพื่อให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการบางส่วนเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะให้เกิดภาพใหญ่จริงๆจะต้องไปด้วยกันทั้งองคาพยพก็คือต้องทำให้แผนปฏิบัติการนี้สำเร็จให้ได้ภายใน 5 ปี

TCELS

ทั้งนี้ตลาดสมุนไพรไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี2565 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศมีมูลค่าสูงถึง 52,104 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน โดยอ้างอิงจากรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2566 โดยประเทศไทยมีสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิดที่ปรากฏสรรพคุณและมีการนำมาใช้ประโยชน์  ซึ่งสมุนไพรไทยนอกจากความต้องการภายในประเทศแล้วยังเป็นที่ต้องในตลาดต่างประเทศด้วยความหลากหลายทางชีวภาพทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำส่งออกในภูมิภาค   แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  อุตสาหกรรมยาจากธรรมชาติ อุตสาหกรรมแปรรูปสมุนไพร และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอาหาร เป็นต้น

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ด้านสมุนไพร จึงได้ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ และเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนใน   อุตสาหกรรมนี้  จึงได้จัดงาน TCELS Business Forum 2023 Keep an Eye on the Future : Unlocking the  Capability  of Thai Herbal Business ปลดล็อคการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ในวันจันทร์ที่  17 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. – 15.00 น. ณ ห้องฟอร์ 1-2 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)

ภายในงานมีการเสวนา ภายใต้หัวข้อ ศักยภาพและโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายภาคส่วน ดังนี้ ดร.กิตติพงศ์ เจียมวิทยานุกูล ผู้จัดการอาวุโส งานยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน TCELS , ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บมจ. โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) หรือ JSP  และ คุณนาตยา สีทับทิมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  ดำเนินรายการโดย คุณทวีรัตน์ จิรดิลก

TCELS

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำคัญในงาน คือ  Lunch Talk “จะปลดล็อคการเติบโตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทยได้อย่างไร” กรณีศึกษา การพัฒนาสมุนไพร อุปกรณ์การแพทย์ เข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยนายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอดีตประธานกรรมการ ศลช.โดยมี ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน หัวหน้าโครงการเป็นผู้ดำเนินรายการ  พร้อมรับฟังแนวทางการรับทุนสนับสนุนจาก TCELS ด้านการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มการแพทย์และสุขภาพสู่การขยายตลาด  โดย ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง และการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักวิจัย นักลงทุนแลกเปลี่ยนมุมมอง เจรจาความร่วมมือ ในกิจกรรม Networking ซึ่งภายในงานยังได้พบกับ 8 กิจการที่มีศักยภาพสูง ภายใต้เครือข่ายของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS อีกด้วย

Related Posts