ในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว วัยรุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน ทั้งการเรียน ความคาดหวังจากครอบครัว และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ จนเกิดความเครียดสะสม แต่บ่อยครั้งปัญหานี้กลับถูกมองข้ามจากครอบครัว ด้วยความคิดที่ว่าความเครียดของเด็กเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ไม่รุนแรงเหมือนความเครียดของผู้ใหญ่ ทำให้แทนที่เด็ก ๆ จะมีที่พึ่ง กลับยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและเครียดมากกว่าเดิม จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ
โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในปี 2565 ชี้ว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเครียดมากขึ้น และพบว่าความเครียดในวัยรุ่นสูงกว่ากลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล วันนี้ พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ รพ.วิมุต จะชวนมาทำความเข้าใจว่าความเครียดของวัยรุ่นก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างกับผู้ใหญ่ พร้อมแนะนำแนวทางที่ครอบครัวสามารถสนับสนุนวัยรุ่นให้มีสุขภาพจิตที่ดี ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
ความเครียด ปัญหาของวัยรุ่นที่ไม่ได้หายง่าย ๆ
หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นคือ ความเครียด ภาวะอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด และไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “บ่อยครั้งเวลาเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต ก็เป็นเรื่องปกติที่ทำให้เรารู้สึกเครียด ซึ่งหลายคนพอเห็นว่าเด็ก ๆ เครียด ก็มักแนะนำให้ไปฟังเพลง เล่นเกม หรือคุยกับเพื่อนก็น่าจะหายเครียดแล้ว แต่จริง ๆ ความเครียดของวัยรุ่นไม่ได้แก้ไขง่ายขนาดนั้น เพราะการจัดการกับความเครียดบางครั้งก็ต้องการคนคอยแนะนำและอยู่เคียงข้าง”
ส่องปัจจัยและสัญญาณความเครียดในวัยรุ่นที่ครอบครัวต้องใส่ใจ
วัยรุ่นในปัจจุบันต้องเผชิญกับหลายปัจจัยที่ทำให้เครียด ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากการเรียน ความคาดหวังจากครอบครัว หรือแม้แต่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในโลกออนไลน์ และยังเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่ทำให้มีอารมณ์แปรปรวนได้ง่ายขึ้น ซึ่งความเครียดเหล่านี้หากสะสมไว้นานอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว หรือภาวะสมาธิสั้น พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ เล่าถึงสัญญาณของความเครียดว่า “ปกติเด็กไม่ค่อยแสดงออกว่าตัวเองเครียด ผู้ปกครองอย่างเราจึงควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ได้เกรดน้อยลง ชอบอยู่คนเดียวมากกว่าอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว หรือหงุดหงิดง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเด็ก ๆ มีอาการแบบนี้ก็อาจเกิดจากความเครียด ควรหันมาใส่ใจและพูดคุยหาสาเหตุร่วมกันทันที”
ครอบครัวต้องเป็นเซฟโซนให้เด็ก
คนที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างครอบครัว คือจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่น ในยุคที่โลกโซเชียลมีอิทธิพลต่อวัยรุ่น สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการสอนให้เด็ก ๆ ใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ และแบ่งเวลาทำกิจกรรมในชีวิตจริง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือใช้เวลากับครอบครัว เพื่อลดความกดดันจากโลกออนไลน์ นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเข้าใจและการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวก็เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดสะสม ลดโอกาสที่วัยรุ่นจะหันไปหาสารเสพติดหรือทางออกที่ผิด พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ อธิบายต่อว่า “ครอบครัวควรจะเป็นเซฟโซนที่วัยรุ่นสามารถเล่าปัญหาหรือระบายความรู้สึกโดยไม่ถูกตัดสินหรือมองว่าเป็นภาระ ผู้ปกครองควรพูดคุยกับเด็ก ๆ อย่างเปิดใจ ไม่ละเลยหรือด้อยค่าความเครียด วิธีนี้จะช่วยให้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางจิตใจ ทำให้ผู้ปกครองสามารถพูดคุยและช่วยจัดการความเครียดของลูก ๆ ได้อย่างเหมาะสม และหากจำเป็นก็ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ไม่ต้องรู้สึกอาย”
“คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องเข้าใจว่าความเครียดของวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ในฐานะคนในครอบครัวก็อยากให้ช่วยกันแก้ไขปัญหา รับฟังและพูดคุยกับพวกเขาอย่างไม่ตัดสิน ทำให้ครอบครัวเป็นเซฟโซนที่เด็ก ๆ สามารถพึ่งพาได้ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่า ไม่ว่าจะพบเจอกับความเครียดขนาดไหน ก็จะสามารถผ่านไปได้เสมอ” พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์สุขภาพใจ ชั้น 18 หรือโทรนัดหมาย 02-079-0078 เวลา 8.00-18.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX