กสทช. ยันประมูลคลื่นใหม่เริ่ม 3.7 หมื่นล้านไม่ลด แต่ยืดเวลาให้ทรูมูฟจ่ายของเก่าช้าได้

กสทช. ยันประมูลคลื่นใหม่เริ่ม 3.7 หมื่นล้านไม่ลด แต่ยืดเวลาให้ทรูมูฟจ่ายของเก่าช้าได้

สำนักงาน กสทช.จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz แต่ไม่ฟังเสียงดีแทค ยังคงยืนยันราคาประมูลเริ่มต้นที่เกือบ 40,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต อ้างกลัวรายที่ได้ก่อนหน้านี้ฟ้อง

แต่พร้อมทำตามข้อเสนอของเอไอเอสและทรูมูฟที่ร้องคสช.ของขยายระยะเวลาการชำระเงินคลื่น 900 MHz เดิมออกไปอีก ด้านดีแทคแย้งราคาเริ่มต้นน่าจะจูงใจมากกว่านี้ เพราะราคานี้อาจก่อให้เกิดต้นทุนของผู้ชนะการประมูลทำให้ขยายโครงข่ายได้ยากลำบาก

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ 4 ฉบับ โดยประเด็นสำคัญที่จะรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความย่าน 900 MHz และ 1800 MHz

ประกอบไปด้วย 1.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต 2.วิธีการอนุญาต 3.ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Reserve Price) 4.กระบวนการอนุญาต 5.สิทธิ หน้าที่ และเงื่อนไขใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 6.มาตรการจำกัดพฤติกรรมสมยอมในการเสนอราคาประมูล และ 7.ประเด็นอื่นๆ

หลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปยังสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมายังสำนักงาน กสทช. ได้อีกจนถึงวันที่ 29 ธ.ค. 2560 ใน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. ทาง e-mail: [email protected] 2. ทางโทรสารที่หมายเลข 0 2278 5316 และ 3. นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายัง สำนักงาน กสทช.

ทั้งนี้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ ( 1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท

ส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ชุดละ15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท

“ส่วนเรื่องการประมูลคลื่นครั้งใหม่ หากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้วเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าราคาเริ่มต้นการประมูลสูงเกินไป กสทช.ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาได้ เพราะเป็นมติที่ประชุม กสทช.จะถูกผู้ชนะการประมูลครั้งก่อนฟ้องร้องได้”

นายฐากร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานได้รับหนังสือจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อขอความเห็นในการประกอบการพิจารณา เรื่องการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz หลังจากที่ผู้ชนะการประมูล

ทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี ได้ขอให้คสช.พิจารณาขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไป

โดยทั้ง 2 บริษัท ได้ทยอยจ่ายค่าประมูลมาแล้ว 2 งวด คือ งวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท งวดที่สอง จำนวน 4,020 ล้านบาท ส่วนงวดที่สาม จำนวน 4,020 ล้านบาท จะครบกำหนดชำระในปี 2561 ซึ่งบริษัทดังกล่าวขอให้ขยายระยะเวลาการชำระงวดสุดท้าย ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2562 จำนวน รายละ 60,000 ล้านบาท ออกไปเป็น 5 งวด รวมทั้งหมดเป็น 8 งวด

” ราคาประมูลคลื่น 900 MHz เป็นเหตุการณ์ที่ แจส โมบายล์ ทำราคาสูง และ ทิ้งใบอนุญาต ไป โดยทรูชนะการประมูลที่ราคา 76,298 ล้านบาท ต้องจ่ายงวดสุดท้ายจำนวน 60,218 ล้านบาท ขณะที่ เอดับบลิวเอ็น มาประมูลรอบสองที่แจส โมบายล์ทิ้งใบอนุญาตไป ในราคา 75,654 ล้านบาท ต้องจ่ายงวดสุดท้ายจำนวน 59,574 ล้านบาท หาก คสช.ใช้ ม.44 ประกาศให้ขยายเวลาได้ตามที่เอกชนขอ เขาก็จะจ่าย เพียงปีละประมาณ 13,000 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยให้ด้วย ” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักงานได้ยกร่างหนังสือเพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.เพื่อนำเข้าที่ประชุมวันที่ 27 ธ.ค. โดยความเห็นที่ กสทช.เสนอไปคือ สามารถชำระแบบเดิม หรือ จะเพิ่มงวดการชำระออกไปก็ได้ ซึ่งหาก คสช.มีประกาศออกมา จำนวนงวดการชำระค่าประมูลจะถูกนำมาบรรจุในการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่นี้ด้วย

ด้านนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเห็นว่าควรกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในระดับที่จูงใจ และให้กลไกการแข่งขันเสนอราคาเป็นตัวกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่เหมาะสม

ไม่ควรนำราคาชนะการประมูลในปี 2558 ที่สูงผิดปกติมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในครั้งนี้ ราคาที่สูงเกินควรจะมีความเสี่ยงที่ กสทช.ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ทั้งหมด หรือ หากจัดสรรได้ก็จะเป็นภาระต้นทุนของผู้ชนะการประมูลในการลงทุนขยายโครงข่ายและลดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่จะกระทบต่อผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งต่อไป

นอกจากนี้ดีแทคยังเสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลที่สำคัญบางประการจากร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz (890-895 MHz/935-940 MHz) และย่าน 1800 MHz (1740-1785 MHz/1835-1880 MHz) ของ กสทช. เพื่อที่จะสามารถจัดสรรคลื่นความถี่ที่กำลังหมดสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดแคลนคลื่นความถี่ จากการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือและพฤติกรรมการใช้งานที่ก้าวสู่ดิจิทัล

การขาดแคลนคลื่นความถี่ได้ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยให้บริการ 4G ด้วยคุณภาพที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทั่วโลก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีจำนวนเสาโทรคมนาคมและสถานีฐานมากกว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ดีแทค จึงสนับสนุนการนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่กำลังจะว่างลงทั้งหมดจำนวน 2×45 MHz มาจัดประมูล เพื่อนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดตอบสนองความต้องการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายนฤพนธ์ กล่าวว่า แต่ทั้งนี้ กสทช. ควรมีการจัดขนาดชุดคลื่นความถี่เป็นขนาดเล็กลงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าประมูลแต่ละราย ซึ่งอาจมีความต้องการปริมาณคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน

แต่ในขณะเดียวกัน ควรกำหนดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดให้เหมาะสมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประมูลทุกรายสามารถแข่งขันในการประมูลเพื่อถือครองคลื่นสูงสุดได้โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข N-1 เพราะ N-1 เป็นกลไกการสร้างความขาดแคลนคลื่นความถี่เทียม (Artificial Spectrum Scarcity) ที่จะส่งผลด้านลบมากกว่าผลดี

Related Posts