ดีแทค ประกาศลุยบริการเน็ตบ้านไร้สาย dtac@Home

ดีแทค ประกาศลุยบริการเน็ตบ้านไร้สาย dtac@Home

dtac@Home

“เราจะไม่หยุดค่ะ” ยังเป็นวลีของ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ที่ใช้อยู่เสมอในทุกงาน เช่นเดียวกับ “ดิจิทัล ไทยแลนด์บิ๊กแบง 2019” ครั้งนี้ดีแทคโชว์ความเหนือกว่าทางด้านเครือข่ายด้วยการเป็น รายแรกในไทยใช้ชุมสายเสมือน VCN เพื่อปูทางสู่ความพร้อม 5G รวมถึงยังได้ทำการทดลองการปล่อยสัญญาณ 5G คลื่น 28 GHz ด้วยการตั้งเสาปล่อยคลื่นทดสอบจริงในงาน และเปิดตัว dtac@Home บริการใหม่ อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงที่บ้าน

โดยชุมสายเสมือน (Virtualized Core Network Virtualized Core Network หรือ VCN) รองรับ 5G นั้นเป็นชุมสายแห่งอนาคตที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานบนคลาวด์ (cloud) และรองรับการใช้งาน 5G โดยทำให้การอัปเกรดโครงข่ายสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถสวิชต์จาก 4G มาเป็น 5G ภายใน 15 นาที สามารถปฏิบัติงานหลายอย่างได้ในคราวเดียวกันบนฮาร์ดแวร์ตัวเดิม เพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าจะได้ใช้งานโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยดีแทคได้เป็นผู้ให้บริการรายแรกในไทยที่ยกระดับโครงข่ายสู่ VCN เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า การเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ที่จะต้องคำนึงถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ และอุตสาหกรรม ที่จะต้องปลดล็อกนำประโยชน์สู่ทุกภาคส่วนในประเทศ ดีแทคได้เตรียมพร้อมในส่วนของเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในส่วนของการประมูล 5G เราอยากเห็นความขัดเจน ด้านราคา กฏ กติกา และต้องเคลียร์คลื่นความถี่ให้ดีก่อนเพื่อไม่ก่อให้เกิดการใช้งานซ้ำซ้อน เพราะการประมูลเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องลงทุนมหาศาล เราจึงต้องการความชัดเจนให้มากที่สุด

“รัฐบาลควรจะช่วยผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีก่อน อาจจะเป็นการให้ไลเซ่นส์ในราคาถูก แล้วค่อยเก็บค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้นในปีต่อๆ ไป โดยต้องมองเรื่องการพัฒนาประเทศและความยั่งยืน เนื่องจากเมื่อ 5G เกิดขึ้นแล้วเราจะได้เห็นความร่วมมือแบบข้ามอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งดีแทคเองได้เตรียมจับมือกับพาร์ทเนอร์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์อย่างเต็มรูปแบบ เริ่มต้นในปีหน้าจะทำการทดสอบ 5G ในกลุ่มคอนซูเมอร์อย่างเช่นเออาร์และวีอาร์ เป็นต้น”

นอกจากนี้ดีแทคยังได้ร่วมมือใกล้ชิดกับเทเลนอร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ได้รับมอบหมายจากสหภาพยุโรปในการบุกเบิก โครงการ 5G Verticals INNovation Infrastructure (5G-VINNI) ในยุโรป และได้ทดสอบการใช้งาน 5G ต่างๆ เช่น รถบัสแบบไร้คนขับ บริการ eHealth และฟาร์มเพาะเลี้ยงปลา ดีแทคจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดสู่ประเทศไทยต่อไป และเพื่อปูทางสู่ 5G ดีแทคยังริเริ่มแพลตฟอร์มยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV Platform) และเกษตรดิจิทัลมาสร้างความตื่นตัวทางด้านการใช้งานอีกด้วย

สำหรับงาน “ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2019” ได้นำเสนอด้วยแนวคิด สถานีแห่งการไม่หยุดพัฒนา (Never Stop Station) แบ่งเป็น 3 โซน ดังนี้

1. โซนเทคโนโลยี 5G (5G Network/Technology)

เปิดประสบการณ์ 5G บนคลื่น 28 GHz – ดีแทคนำ 5G มาเปิดใช้งานเพื่อโชว์ศักยภาพและให้ทุกคนได้สัมผัสการใช้งาน 5G แห่งอนาคต รวมทั้งตอบสนองพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดย 5G ที่ดีแทคนำมาเปิดสัญญาณทดสอบภายในงานได้ใช้คลื่นความถี่ 28 GHz กับอุปกรณ์ 5G เพื่อทดสอบความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล และผู้เข้าชมจะได้ลองสัมผัสการใช้จริง 5G จากเทเลนอร์ การทดสอบที่ดีแทคพร้อมนำมาต่อยอดสู่ไทย

นำเสนอความสำเร็จจากเทเลนอร์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นของดีแทค และเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่สำคัญในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ยุโรปกลางและตะวันออก รวมถึงแถบเอเชีย โดยได้รับมอบหมายจากสหภาพยุโรปทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้กับโครงการบุกเบิกและเร่งผลักดันให้เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นทั่วทวีปยุโรป โครงการนี้มีชื่อเรียกว่า 5G Verticals INNovation Infrastructure (5G-VINNI)

พร้อมทั้งยังเป็นผู้นำในการทดสอบ 5G ในรูปแบบต่างๆ เพื่อการใช้งานอุตสาหกรรมและประชาชน เช่น 5G เพื่อการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอน (Fish Farming) หรือ การใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Access หรือ FWA) เป็นต้น ล่าสุด เทเลนอร์ ยังเป็นโอเปอร์เรเตอร์รายแรกในนอร์เวย์ที่ปล่อยสัญญาณ 5G ในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ผู้ใช้บริการที่มีสมาร์ทโฟน 5G รองรับ สามารถใช้สุดยอดเครือข่ายกับสมาร์ทโฟนได้ในอีกไม่นานที่ เอลเวอร์รัม (Elverum)

2. โซนล้ำกว่าการเชื่อมต่อโลกโมบายล์ (Beyond Mobile Connectivity) dtac EV platform)

ดีแทคจะนำคุณรู้จักกับสุดยอดเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม โดยดีแทคได้นำ dtac EV platform ซึ่งแพลตฟอร์มที่รวบรวมและสนับสนุนความต้องการที่หลากหลายสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่ยั่งยืนของยานพาหนะไฟฟ้าในเมืองไทย

dtac@Home การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบ้าน การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่จากดีแทคที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เสถียรและไว้วางใจได้สำหรับบ้านและที่พักอาศัย เพื่อประสบการณ์ออนไลน์ที่ดียิ่งขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อ WiFi ที่เข้าถึงได้ทุกที่ในบ้าน โดยในอนาคตเมื่อเข้าสู่ยุค 5G บริการต่างๆ ของอินเทอร์เน็ตไร้สายในรูปแบบการให้บริการประเภทเดียวกันกับ dtac@Home จะเข้ามายกระดับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับที่พักอาศัย

3. โซนดิจิทัลเพื่อทุกคนในสังคม (Digital Society for All)

แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ SafeInternetForKid.com ดีแทคได้นำเสนอโครงการ Safe Internet การส่งเสริมทางสังคมและแหล่งเรียนรู้ออนไลน์สำหรับเด็กที่ช่วยสร้างเสริมทักษะให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ (Digital Literacy) และเป็นพลเมืองดิจิทัลอย่างปลอดภัยและมั่นใจยิ่งขึ้น

เน็ตอาสา (NetArsa) ทีมผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้การใช้งานอินเทอร์เน็ตลดช่องว่างของชุมชน และนำอินเทอร์เน็ตมาส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านการแนะนำการใช้งานสมาร์ทโฟน การใช้แอปพลิเคชันต่างๆ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งเสริมการค้าออนไลน์ การเรียนรู้การใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งชุมชนที่นำผลผลิตเด่นๆ จากของใช้และอาหารมาร่วมแสดงจากภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการ

เกษตรดิจิทัล นอกจากความรับผิดชอบต่อสังคมในโซนนี้ดีแทคยังนำเสนอปฏิรูปเทคโนโลยี และการผสานนวัตกรรมใหม่กับพัฒนาในการทำเกษตรกรรมอย่างแม่นยำ เพื่อให้การทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์ ดีแทคเป็นผู้สร้าง Digital Farming Solution ภายใต้โครงการสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) เกษตรกรไทยสู่เกษตรกรดิจิทัล และดีแทคยังไม่หยุดที่จะก้าวต่อไปในการค้นหาโซลูชั่นเพื่อช่วยเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

Related Posts