___noise___ 1000

เกาะติดแนวคิด พุทธิพงษ์ รวมศูนย์กระทรวงดิจิทัลฯ

พุทธิพงษ์

พุทธิพงษ์
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กว่า 2 ปีของการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของ ‘พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ กับความตั้งใจในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการทำงานของกระทรวงในยุคดิจิทัล ที่แน่นอนว่าเป็นกระทรวงmujไม่ใช่กระทรวงใหญ่ และมากล้นอำนาจด้วยกรมกองที่หลากหลาย หากแต่กระทรวงแห่งนี้เต็มไปด้วยองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ชราภาพ พร้อมหน่วยงานตั้งใหม่ที่มีชั้นวรรณะเพียงแค่สำนักงาน และมีเพียงกรมเดียวเท่านั้นนั่นก็คือกรมอุตุนิยมวิทยาที่จะเข้าขั้นกรม

แต่นี่เราอยู่ในยุคดิจิทัลนะ!!! ทำไมหน่วยงานดิจิทัลตัวจริงถึงไม่ได้เป็นหัวเรือหลักในการนำนาวาประเทศไทยสู่ฝั่งฝันหรือ? วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสฟัง ‘พี่บี พุทธิพงษ์’ พูดบนเวที เนื่องในโอกาสงานเลี้ยงฉลองก่อนการประชุมยุทธศาสตร์ในเช้าวันถัดไป ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีประโยคที่ติดหูและทำให้เราสนใจในแนวคิดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งประโยคนั้นก็คือ “การทำงานของไปรษณีย์ไม่ควรมีกำไร เมื่อเกิดกำไรควรนำไปต่อยอดช่องทางการตลาด เพื่อขยายบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น” ซึ่งประโยคนี้อาจจะดูเผิน ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งนี้นับเป็นแนวทางการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้อย่างมั่นคง

เพราะการเป็น องค์กรไปรษณีย์ไทยนั้น ถูกตั้งเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถสื่อสาร ส่งของและพัสดุหากันได้อย่างสะดวกมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา การสร้างผลกำไรไม่ใช่เป้าหมายหลักของการก่อตั้ง เมื่อสามารถสร้างกำไรได้ก็ควรจะต้องนำไปต่อยอดเพื่อขยายช่องทางบริการให้มากยิ่งขึ้น เมื่อนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งก็จะสมหวัง

Two Pizza Team ระดมสมองคนรุ่นใหม่จากทุกหน่วยงาน

เมื่อเราได้นั่งคุยกับพี่บีมากขึ้น ก็ทำให้เราได้รู้ว่า วันนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เริ่มต้น การระดมความคิดขององค์กรภายใต้สังกัดกระทรวงทั้งหมดราว 9 หน่วยงานหลัก อันได้แก่ 1. กรมอุตุนิยมวิทยา 2. สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) 3. สำนักงานสถิติแห่งชาติ 4. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) 5. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) 6. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 7. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) 8. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และ 9. สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ThaiCERT)

เริ่มต้นด้วยการดึงคนรุ่นใหม่จากหน่วยงานละ 2-3 คน เพื่อมาระดมสมองร่วมกัน โดยมีพี่บีเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งเริ่มต้นมาได้เพียงแค่ 3 สัปดาห์ แต่ได้ผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน และคัดเลือกโครงการที่น่าสนใจมาต่อยอดได้ราว 6-7 โครงการ ด้วยแนวคิดของการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมที่มากกว่าการหว่านแหอย่างที่เคยเป็น ซึ่งจะทำให้เกิดการวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีตัวชี้วัด (KPI) ที่สามารถตรวจวัดได้เป็นอย่างดี

พี่บี ยกตัวอย่างของโครงการเพิ่มอินเทอร์เน็ตเพื่อชุมชน ด้วยแนวคิดของการเข้าไปติดตั้งฟรีไวไฟใหม่ จะเป็นการคัดเลือกพื้นที่ชุมชุมที่จะเข้าไปพัฒนา จากโอกาสของการเกิดต้นแบบ และโอกาสของการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ สำเพ็ง เราจะเข้าไปตั้งฟรีไวไฟ ที่รองรับความเร็วประมาณ 200 Mbps ให้สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และนอกจากติดตั้งแล้ว เรายังจะสอนให้ใช้ประโยชน์ด้วย เพราะเราต้องมองผลสัมฤทธิ์​ต่อยอดในอนาคต เป็นแนวคิดใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้และการปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ของร้านค้าในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์เชิงรุก​แบบ New Normal นั่นเอง

โครงการดังกล่าวจะเป็นการสอดประสานร่วมกันระหว่าง กสท โทรคมนาคม ที่จะเลือกติดตั้งฟรีไวไฟให้กับชุมชน พร้อมการพัฒนาแนวคิดให้กับชุมชนนั้น ๆ ได้สามารถเข้าถึงประโยชน์ของโลกออนไลน์ได้มากขึ้น เป็นจำนวน 10 แห่ง และ ทีโอที จะทำหน้าที่เช่นเดียวกันอีก 10 แห่ง ก็จะรวมทั้งหมดเป็น 20 แห่ง ซึ่งก็จะทำให้เราได้ประโยชน์ในทุกส่วนของสังคม

ขณะที่อีกหนึ่งตัวอย่าง คือไอเดียของการสร้างแพลตฟอร์มของการร้องเรียน เพื่อเปิดให้ประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว เพราะจากการระดมสมองของทีม บ่งบอกให้เรารู้ว่า จำนวนของการโทรสายเข้ามาร้องเรียนนั้นมีน้อยลงทุกวัน ด้วยพฤติกรรมของการใช้งานในยุคดิจิทัลที่ทุกคนเคยชินกับการพิมพ์ข้อความส่งหากันมากกว่า ข้อมูลบอกให้เรารู้ว่าเราต้องเปลี่ยนแปลง และนั่นก็เป็นที่มีของแพลตฟอร์มการร้องเรียน เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนในการเข้าใช้บริการของรัฐมากขึ้น

และเมื่อรัฐรับทราบข้อร้องเรียนมากขึ้น แพลตฟอร์มดังกล่าวก็จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของการวิเคราะห์ Big Data เมื่อเก็บสถิติได้มากพอ เพื่อทำให้รัฐรับทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของประชาชน และสามารถนำปัญหาดังกล่าวมาเปลี่ยนไปเป็นนโยบายที่ดี  และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างตรงจุดมากที่สุดต่อไปในอนาคต

แน่นอนว่าการหลอมรวมความคิดของแต่ละหน่วยงาน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อเมื่อหน่วยงานที่มีทั้งหมดของกระทรวง สามารถร้อยเรียงประโยชน์ของแต่ละหน่วยงานเข้ามาเป็นบริการเนื้อเดียวกันได้อย่างไร้รอยต่อได้แล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็นับว่าเป็นกระทรวงที่มีความแข็งแกร่งและเหมาะกับยุคดิจิทัลมากที่สุด ซึ่งหากมองความเป็นจริงของโอกาสในการทำสำเร็จก็ต้องบอกว่า กระทรวงแห่งนี้มีหน่วยงานที่พร้อมให้บริการครบครันที่สุดกระทรวงหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่เรื่องการสื่อสาร การขนส่ง การรวบรวมข้อมูล การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนตรวจตราสภาพอากาศ เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกันระดมแนวคิดของการพัฒนากระทรวงฯ จึงต้องการคนเก่ง และคนที่รู้จักองค์กรของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรได้อย่างค่องแคล่วและว่องไว ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นพนักงานเพียงแค่ฝ่ายปฏิบัติการเท่านั้น การสั่งการหน่วยงานและองค์กรภายใต้สังกัด จึงเป็นบทบาทหลักของเจ้ากระทรวงอย่างพี่บีนั่นเอง

และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงที่ TheReporterAsia สัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเจ้ากระทรวงแห่งนี้ ในการวางโครงสร้าง การระดมสมองแบบที่ไม่ต่างจากสตาร์ทอัพทำกัน ในชื่อคอนเซ็ปต์ว่า Two Pizza Team ซึ่งหมายถึง การสร้างทีมเฉพาะกิจขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวและครอบคลุมการทำงานของทุกภาคส่วน ภายใต้จำนวนของทีมที่สามารถแบ่งกันทานพิซซ่าได้อิ่มใน 2 ถาดใหญ่เท่านั้น

เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า ที่สุดแล้ว เจ้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่าง พี่บี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จะสามารถส่งต่อความเป็นดิจิทัลที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากภายในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง และส่งไปสู่ประชาชนที่คาดหวังให้เป็นไปตามอย่างชื่อกระทรวงดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วเพียงใด ซึ่งแม้ว่าทิศทางลมจะถูกต้อง แรงลมมาเพียงพอ แต่ก็ไม่แน่ว่าพายุที่อยู่ด้านข้าง อาจจะเปลี่ยนทิศทางและถาโถมเข้าใส่เรือลำน้อยนี้ได้อย่างไม่ยั้งก็เป็นได้ แต่ก็เอาใจช่วยให้การรวมศูนย์กระทรวงฯ สามารถทำได้อย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่จะเข้าถึง และการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้นี้นั่นเอง

banner Sample

Related Posts