บอร์ด บีโอไอ ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนปี 65 กระตุ้นโครงการลงทุน สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด พร้อมส่งเสริมย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี AIT และ วว. มุ่งดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต เพื่อหนุนไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุน ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนและมาตรการ EEC ถึงสิ้นปี 65
มาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 2565 บีโอไอมุ่งส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีผลในวงกว้างต่อการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมาตรการนี้ครอบคลุมกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (A1, A2 และ A3) และต้องเป็นโครงการที่มีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2565 ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565
นอกจากนี้ ให้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ยกเว้นโครงการที่ตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) และการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) (EECg) สามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นคำขอ
ภายใต้มาตรการอีอีซี โครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์พื้นฐานได้ใน 2 กรณี คือ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้
กรณีเกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หากมีการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น โครงการ Work-integrated Learning (WiL) สหกิจศึกษา ทวิภาคี หรือรูปแบบอื่นที่คณะกรรมการเห็นชอบ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ลักษณะแตกต่างกันตามกลุ่มประเภทกิจการ คือ1) กิจการในกลุ่มที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 – 8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติม 3 ปี 2) กิจการในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี
กรณีเกณฑ์ที่ตั้ง หากตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ 1) กิจการในกลุ่มที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 – 8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มเติม 2 ปี 2) กิจการในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี นอกจากนี้ กรณีตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี ด้วย
กระตุ้นลงทุนย่านนวัตกรรมการแพทย์
ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ตามประกาศของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จะต้องมีความร่วมมือ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ ความร่วมมือในโครงการ Work-integrated Learning (WIL) สหกิจศึกษา และทวิภาคี หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2) ความร่วมมือกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เป็นต้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เช่น MedTech เป็นต้น โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ
กำหนดเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเติม
โดยที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) และอาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ณ เทคโนธานี เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา และการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการวิจัย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น การผลิตชิ้นส่วนระบบราง การผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมและบริการ เพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 2 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ
ไฟเขียวโครงการใหญ่ มูลค่าลงทุนกว่า 26,000 ล้านบาท
โดยการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ยังได้พิจารณาเห็นชอบให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 26,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมด้านพลังงาน พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค เช่น
– บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เงินลงทุน 3,656.19 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles-BEV) ปีละประมาณ 6,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) ปีละประมาณ 50,000 คัน และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 65,805 ชิ้น
– บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด เงินลงทุน 3,434.36 ล้านบาท ในโครงการท่าเทียบเรือ D2 ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อให้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ปีละประมาณ 812,000 ทีอียู โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี
– บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานอื่น ๆ ในระบบ COGENERATION