ความยิ่งใหญ่ของ เขื่อน ที่กักเก็บน้ำในปริมาณที่สูง เป็นความละเอียดอ่อนที่สะท้อนถึงความปลอดภัยของผู้คนโดยรอบในวงกว้าง ครั้งนี้ TheReporterAsia จะรายงานให้เห็นความสามารถของนักวิจัยไทยคุณอุ่นพงศ์ สุภัคชูกูล นักวิจัย หัวหน้าทีมพัฒนาระบบ DS-RMS ภายใต้ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล (IST) กลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (ACERG)จาก เนคเทค ที่ได้เนรมิตร เขื่อน ให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น สามารถบอกอาการผิดปกติของตนเองได้อย่างละเอียดและทันที จนผลงานเข้าตาระดับอาเซียนและคว้ารางวัลที่ 2 ของการประกวดการนำเสนอวิทยาศาสตร์ด้านเขื่อนในภูมิภาคอาเซียน
โดยการสร้างระบบให้เขื่อนสามารถสื่อสารความผิดปกติให้กับผู้ควบคุมในครั้งนี้ มีชื่อว่า ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน หรือ DS-RMS (Dam Safety Remote Monitoring System)ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และทีมวิจัยจากเนคเทค สวทช. เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการระบบความปลอดภัยของเขื่อนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมากในการตรวจเช็คขั้นตอนต่างๆ และใช้ระยะเวลาหลายวันกว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการคิดวิเคราะห์จนรับรู้ถึงความผิดปกติที่ตรงจุด เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
วันนี้ระบบ DS-RMS สามารถช่วยตรวจสอบความผิดปกติผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่ฝังตัวอยู่โดยที่เขื่อนแบบเรียลไทม์ ด้วยการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลที่ชื่อว่า RTU เพื่อทำหน้าเก็บข้อมูลพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของเขื่อนในทุกรูปแบบจากเซ็นเซอร์ได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งโดยปกติจะมีเจ้าหน้าทำการตรวจทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายไตรมาส แบ่งเป็น การตรวจวัดปริมาณน้ำฝน การตรวจวัดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ระดับน้ำในตัวเขื่อน การวัดแรงดันน้ำและปริมาณน้ำซึมบริเวณตัวเขื่อน การตรวจสอบสภาพวัสดุและความมั่นคงของลาดเขื่อน การตรวจวัดการเคลื่อนตัวและทรุดตัวของเขื่อน อีกทั้งในทุก ๆ 2 ปีจะมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในด้านต่าง ๆ
และแม้ว่าการตรวจสอบด้วยเครื่องมือและสายตาจากบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เพื่อเป็นการยกระดับการตรวจสอบให้มีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบการตรวจสอบเขื่อน DS-RMS ขึ้น โดยเป็นการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้รองรับการทำงานหลากหลายตัวแปรของระบบเซ็นเซอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด
ซึ่งระบบการทำงานจะเริ่มตั้งแต่การการเก็บข้อมูลโดยกล่องควบคุมระยะไกล RTU ที่เป็นฮับในพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่ฝังตัวอยู่ที่เขื่อนและพื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำตามวัตถุประสงค์ โดยจะมีการติดตั้ง RTU ในหลากหลายจุดเพื่อให้ครอบคลุมการทำงานตามพื้นที่ของเขื่อนที่มีขนาดใหญ่
และหลังจากเก็บรวมรวมข้อมูลเข้ามาเป็นภาษาเดียวกันของหลากหลายชนิดเซ็นเซอร์แล้ว ข้อมูลจะถูกส่งเข้าส่วนกลาง เพื่อนำมาประมวลผลหาสถานะความปลอดภัยของเขื่อนด้วย “ระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญ” (Expert system) เพื่อช่วยคาดการณ์สาเหตุของความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยจะแจ้งสถานะความปลอดภัยเขื่อนผ่านโปรแกรมในรูปแบบ Web Application ทางหน้าจอเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมทั้งสามารถส่งการแจ้งเตือนผ่านทาง SMS และ E-mail ไปยังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้สามารถทราบเรื่องได้ทันที หากพบความผิดปกติขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้รับผิดชอบจะสามารถออกไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขได้ทันการณ์ พร้อมทั้งแจ้งผู้บริหารของ กฟผ. เพื่อสื่อสารให้แก่สาธารณชนได้รับทราบในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ ระบบการตรวจสอบเขื่อน DS-RMS นี้ กฟผ. ได้พัฒนาร่วมกับเนคเทค สวทช. โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำปรึกษาในการจัดทำเกณฑ์การแจ้งเตือนความปลอดภัยเขื่อนและพัฒนาระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญ (Expert system) ที่ผ่านการพิจารณาและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเขื่อนของไทย
โดยการพัฒนาระบบตรวจสุขภาพเขื่อน ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี คือระหว่างปี 2557-2559 ปัจจุบันงานทั้งหมดแล้วเสร็จ โดยนำระบบเข้าใช้ในการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนของ กฟผ. จำนวน 14 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนน้ำพุง เขื่อนปากมูล เขื่อนของโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง
TheReporterAsia ก็ขอแสดงความยินดีกับ คุณอุ่นพงศ์สุภัคชูกูล นักวิจัย หัวหน้าทีมพัฒนาระบบ DS-RMS ที่สามารถคว้ารางวัลที่ 2 (Second Prize) จากการนำเสนอผลงาน“Digital Transformation of Dam Management in Thailand” ในการประกวดการนำเสนอวิทยาศาสตร์ด้านเขื่อนในภูมิภาคอาเซียนThe 1st China-ASEAN Dam Science Popularization Contest ซึ่งจัดโดย Nanjing Hydraulic Research Institute และ Lancang-Mekong Water Resources Cooperation Centre ในระหว่างวันที่ 25-26 พย. 2564 โดยเชิญบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศจีนและประเทศในกลุ่ม ASEAN เข้าร่วมประกวดผลงาน มีคณะกรรมการตัดสินผลงาน 11 ท่าน มาจากประเทศจีน ประเทศในกลุ่ม ASEAN และ หน่วยงานสากลอื่น ๆ ซึ่งจัดพิธีการประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการที่งาน 2nd Lancang-Mekong Water Resources Cooperation Forum Tentative Agenda for Exchange Session 6 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา