___noise___ 1000

เอ็นไอเอ ประกาศความสำเร็จ ‘สร้างผู้บริหารเมืองนวัตกรรม’

เอ็นไอเอ

เอ็นไอเอ

เอ็นไอเอ เผยช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยพลังจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียมหาศาลต่อชีวิตผู้คน และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ทำให้ทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องหันกลับมาคำนึงถึงบริบทที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น เพราะแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ล้ำสมัยแค่ไหน แต่หากไม่สามารถนำมาใช้และเกื้อกูลสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ ในสังคม ในเมืองและชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ยากที่จะเกิดขึ้น

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อํานวยการสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ที่ผ่านมา เอ็นไอเอ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ และการนำไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ภายใต้การนำองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการ และการยกระดับทักษะและความสามารถของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของ NIA ก็คือ การจัดอบรมหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน 2565 เป็นรุ่นที่ 5 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างนักบริหารเมืองรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในนวัตกรรม มีความสามารถในการพัฒนาและวางแผนยุทธศาสตร์และการจัดการเมือง และสามารถนำไปปรับใช้ในบริบทของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ใน 3 ระดับ คือ ย่าน เมือง และภูมิภาค เกิดการพัฒนาเมืองนวัตกรรมที่มีความทั่วถึง ยั่งยืน และเชื่อมโยงการขับเคลื่อนในทิศทางที่สอดคล้องเกื้อกูลกัน

หลักสูตร CCIO รุ่นที่ 5 ในปีนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองให้ครอบคลุมในทุกมิติ สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น เมืองแห่งอนาคต (City of The Future) กระบวนทัศน์ใหม่ของเศรษฐกิจเมือง (New Paradigm of City Economy) นวัตกรรมเปลี่ยนเมือง (UrbanTech Innovation) เมืองสู้วิกฤต (City and the Crisis)  ฐานรากเมืองยั่งยืน (ESG Principles for Sustainable Cities) เมืองผู้สูงวัย (City for Silver Economy) โดยจะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายทั้งในและต่างประเทศ ผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้จะได้รับความรู้เพื่อนำไปพัฒนาองค์กร ธุรกิจ และเมือง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถสร้างเครือข่ายนักบริหารระดับสูงที่เข้มแข็ง และสามารถต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้ประโยชน์ต่อธุรกิจและประเทศได้

สำหรับหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม หรือ CCIO ในรุ่นที่ 1-4 ที่ผ่านมา มีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ กรมธนารักษ์, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.), กลุ่มสยามพิวรรธน์, บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท, บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เป็นต้น สามารถสร้างให้เกิดเครือข่ายนักพัฒนาเมืองและนวัตกรรมมากกว่า 180 คน เกิดแนวคิดหรือโครงการต้นแบบในการพัฒนาเมืองรวมถึงเกิดความร่วมมือ จนเกิดโครงการที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงมากกว่า 10 โครงการ เช่น เชียงใหม่เมืองนวัตกรรม และที่จังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงกรุงเทพมหานคร และยังนำไปสู่การรวมกลุ่มจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองในจังหวัดที่สำคัญ ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 50 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการจัดโครงการที่ผ่านมาทั้ง 4 รุ่น และการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่

เอ็นไอเอ

สิ่งที่สามารถยืนยันความสำเร็จของหลักสูตร CCIO ได้เป็นอย่างดี คือเสียงสะท้อนจากผู้ผ่านการอบรม ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม การออกแบบและศิลปะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ตัวแทนรุ่นที่ 2 กล่าวว่า ก่อนจะเข้ามาเรียน CCIO ผมทำงานกับชุมชน โดยใช้วัฒนธรรมเป็นกลไกในการพัฒนาชุมชนซึ่งค่อนข้างโบราณ จนช่วงหนึ่งเริ่มสนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ และได้มีโอกาสมาเรียนรู้ผ่านหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (CCIO) เหมือนผมได้เปิดโลกใหม่ เพราะได้เรียนรู้กระบวนการทางความคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เราสามารถนำนวัตกรรมไปต่อยอดในการทำธุรกิจ เกิดมิตรภาพและเครือข่ายเมืองนวัตกรรมที่เข้มแข็ง

ทางด้านนายตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวแทนรุ่นที่ 3 กล่าวว่า เมืองนวัตกรรมจะช่วยยกระดับการใช้ชีวิตในทุกมิติ เมืองแบบเดิมๆ จะหายไป เพื่อก้าวสู่ความเป็นเมืองนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งจากที่ได้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (CCIO) ทำให้ผมเชื่อมั่นในความเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม เพื่อช่วยกันตอบโจทย์ของสังคมในหลายๆ มิติ

ขณะที่ ดร.จักรกฤษณ์ เหลืองเจริญรัตน์ กรรมการบริหาร บริษัท เก็นสเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนรุ่นที่ 4 กล่าวว่า ผมเป็นสถาปนิก นักออกแบบผังเมือง ซึ่งต้องบอกว่าก่อนที่จะมาเรียนผมก็ค่อนข้างรู้ข้อมูลในหลายด้านที่เกี่ยวกับเมืองนวัตกรรมแต่รู้แค่เบื้องต้น ซึ่งพอมาได้มาเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (CCIO) ทำให้ผมได้รู้องค์ประกอบของเมือง ข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมทุกมิติ และผมคิดว่านี่คือเสน่ห์ของหลักสูตร CCIO

ด้านนายเอกชัย ตั้งรัตนาวลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออริจิน จำกัด ตัวแทนรุ่นที่ 4 ได้กล่าวว่า เราไม่ใช่นักสถาปนิก ไม่ใช่นักออกแบบ แต่พอมาเรียนในหลักสูตรของผู้บริหารเมืองนวัตกรรม CCIO วิทยากรแต่ละท่านช่วยกระตุกต่อมทำให้รู้ว่าการจัดการเมืองนวัตกรรมนั้นควรเริ่มต้นจากอะไร และลำดับขั้นตอนความคิดควรเป็นอย่างไร ช่วยเปิดมุมมอง เปิดความคิดใหม่ๆ  ซึ่งช่วยยกระดับความสามารถและสร้างความเข้าใจในการนำนวัตกรรมไปพัฒนาธุรกิจที่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

banner Sample

Related Posts