ส่อง เอสซีจีซี ผสานปัญญาประดิษฐ์ สู่โรงงานอัจฉริยะแบบครบวงจร

เอสซีจีซี

เอสซีจีซี

เมื่อยักษ์ใหญ่ด้านเคมีคอลของไทย เอสซีจีซี ผนึกกำลังกับ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง ไมโครซอฟท์ ทำให้ TheReporterAsia ไม่พลาดที่จะนำเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นมารายงานให้ฟัง ซึ่งด้วยความร่วมมือของทั้งสององค์กรนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะเป็นแบบอย่างของการเดินหน้าพัฒนาองค์กรไปสู่เส้นทางดิจิทัลได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมองค์กรต้องเดินหน้าสู่ดิจิทัลด้วย อยู่แบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว อย่าเพิ่งสงสัยกันครับ มาลองพิจารณาการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นกับองค์กรใหญ่อย่าง เอสซีจีซี ก่อนว่า เมื่อดิจิทัลเข้ามาสู่กระบวนการทำงานของทั้งองค์กรแล้วเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง

คุณกุลเชฎฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน เอสซีจีซี ได้เปิดเผยกับเราว่า การเปลี่ยนแปลงของเอสซีจีซี เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้นมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นเป็นเรื่องของการผลิต การวิจัยและพัฒนาสินค้า เนื่องจากโรงงานของเรามีการผลิตตลอดเเวลา(24/7) ทำให้การทดลองหรือทดสอบจะเกิดการสูญเสียเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเรานำเทคโนโลยี Digital Twin ซึ่งเป็นแบบจำลองการผลิตคู่ขนาดที่มีสมการของการผลิตแบบเดียวกับโรงงานจริงเข้ามาใช้ ทำให้การพัฒนาสินค้าสามารถคิคด้นได้จากโลกดิจิทัลได้เลย แต่กระนั้นในขั้นตอนของการประมวลผล ปัญญาประดิษฐ์แบบเดิมที่เราได้พัฒนาขึ้นเอก็ยังมีข้อจำกัดด้านเวลา

การเข้ามาช่วยยกระดับของ บอนไซ ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงของไมโครซอฟท์จึงเข้ามาช่วยด้านนี้ และทำให้ขั้นตอนการประมวลผลสามารถทำได้จากหลักเดือนกลายเป็นหลักวัน และหลักชั่วโมง และยังสามารถพัฒนาตัวปัญญาประดิษฐ์ไปได้อีกต่อเนื่อง ด้วยความที่เป็นแมชชีนเลิร์นนิ่ง ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีเช่นนี้ ทำให้เราสามารถพัฒนาและยกระดับเคมีบางตัวให้สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง และความสูญเสียก็น้อยลง แต่ได้เคมีเกรดที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

การพัฒนาเช่นนี้เป็นต้นแบบให้กับโรงงานของเรา แต่เดิมเราเชื่อว่ามีความเป็นเทคโนโลยีตลอดทั้งกระบวนการผลิตอยู่แล้ว ต่อเมื่อสามารถสร้างโลกเสมือนที่มีสมการเดียวกันให้สามารถทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของเราได้โดยที่ไม่ต้องหยุดหรือชะลอการผลิต ก็เป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ให้เราสามารถเดินหน้าพัฒนาสินค้าได้ตรงใจตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้เรายังนำต้นแบบของการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะเช่นนี้ ไปสู่โรงงานของลูกค้า ซึ่งมีความแตกต่างในเรื่องของกระบวนการผลิตอยู่พอสมควร แต่ก็มีโครงสร้างของการผลิตเช่นเดียวกัน ทำให้ลูกค้าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วและตรงความต้องการมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เชื่อว่าโมเดลเช่นนี้จะสามารถพัฒนาโรงงานได้หลากหลายรูปแบบ เพราะเป็นเสมือนการโคลนนิ่งโรงงานจริงเข้ามาสู่โลกดิจิทัลทั้งระบบ ทำให้เราสามารถทดลองผลิต ตลอดจนวิจัยและพัฒนาได้บนโลกดิจิทัลก่อนการนำไปสู่การผลิตจริง

เอสซีจีซี
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังตั้งเป้าที่จะขยับไปสู่การนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยเรื่องของการจัดการตลอดทั้งโรงงาน ทั้งในส่วนของเครื่องจักรและแรงงาน เพื่อลดทอนความอันตรายให้กลายเป็นความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักการผลิตด้วยการพยากรณ์การซ่อมบำรุงที่แม่นยำ

และในอนาคตคาดว่าจะสามารถขยับเข้าไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่ครอบคลุมทั้งซัพพลายเชนได้อย่างแน่นอน ด้วยความสามารถของ Digital Twin ภายใต้สมองกลอย่าง บอนไซ จากไมโครซอฟต์ ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ขณะที่พี่เต้ย คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า การนำ บอนไซ ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงไปใช้ สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะให้มีการสร้างแบบจำลองและประมวลผลที่รวดเร็วแล้ว ยังสามารถสร้างระบบแชทบอทที่เข้ามาช่วยตอบแทนคนจริงได้อย่างสมูทสมจริง แบบที่ไม่ต่างจากคนจริงมาตอบเองแต่อย่างใด

อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้งาน ยังเป็นรูปแบบ as a Services ทำให้องค์กรทุกขนาด ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงระบบเอนเตอร์ไพรซ์สามารถเข้าใช้บริการได้อย่างไร้ข้อจำกัด และด้วยความเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเข้าใช้งานก็จะมีความง่าย ไม่ต้องรู้ลึกเรื่องของการเขียนโค้ดโปรแกรมอีกต่อไป ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างแอปพลิเคชั่นที่ต้องการได้ในระยะเวลาอันสั้น ด้วยการพัฒนาที่ไม่ยุ่งยากและเปลืองทรัพยากรอีกต่อไป

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า แนวทางการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ใช้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง ไม่ต้องต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในการเข้าใช้บริการ และที่สำคัญมีความหลากหลายของการนำไปใช้ และสอดคล้องกับการพัฒนาองค์กรในแทบจะทุกมิติของการทำงาน ในทุกขนาดขององค์กรเช่นเดียวกัน

banner Sample

Related Posts