กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจงานวิจัยและสินค้าเกษตร มุ่งยกระดับสินค้าเกษตรไทยให้มีนวัตกรรมและคุณภาพสูงขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมขยายสู่ตลาดสากล สามารถเพิ่มมูลค่าและยอดขาย พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ และหน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีที่ 2564 ผ่านมา กรมฯได้จัดกิจกรรม Agri-Tech Innovation Connection ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดี เกิดการจับคู่งานวิจัยสำเร็จเป็นรูปธรรม 5 บริษัท และต่อยอดไปจนถึงขั้นตอนการพัฒนาและขอรับทุนสนับสนุน รวม 5 ล้านบาท ปี 2565 นี้ มีผู้ประกอบการให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมการจับคู่กับนวัตกรรมมากขึ้นถึง 30 บริษัท ซึ่งตรงกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากร และเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยี ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยเริ่มตั้งโจทย์การยกระดับสินค้าเกษตรไทยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความต้องการจริงของลูกค้าและเป็นไปตามแนวทางความต้องการของผู้บริโภคในตลาดการค้าในประเทศและตลาดการค้าสากล
กิจกรรม Agri-Tech Innovation Connection 2022 : นวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้ประกอบการได้เพิ่มมูลค่าและยกระดับธุรกิจด้วยงานวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และเป็นโอกาสที่จะต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ตามแผนส่งเสริมการส่งออกภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยใช้กลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับสินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ให้เป็นสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการจริงของผู้บริโภค
โดยในปี 2565 นี้ ยังได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยของหน่วยงานพันธมิตรด้านนวัตกรรม 2 แห่ง คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อช่วยให้คำปรึกษาเชิงลึก สามารถแลกเปลี่ยนความคิดและหาแนวทางสรรสร้างพัฒนาคุณภาพสินค้า เพิ่มศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม (Innovation Matching) และสร้างโอกาสให้กับสินค้าให้มีความโดดเด่นน่าสนใจด้วยยวัตกรรม เพื่อการรักษาและขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ รวมถึงฟื้นตลาดเก่าในต่างประเทศ ให้สินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ กรมฯยังได้รับความร่วมมือจาก “กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์” ที่มาให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าในเชิงพาณิชย์, “ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank)” ที่มาเปิดคลินิกให้คำปรึกษาเชิงลึกเรื่องการขอทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าในเชิงพาณิชย์ และ “สมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (Thai PDA)” ที่มาเปิดคลินิกให้คำปรึกษาเชิงลึกเรื่องการพัฒนาต่อยอดสินค้าในเชิงพาณิชย์ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรนวัตกรรม
สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน นวัตกรรมถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวการสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดขั้นความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น เนื่องจากนวัตกรรม โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรได้ Agri-Tech Innovation Connection 2022 : นวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะผลักดันและต่อยอดผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและสามารถนำพาให้สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรนวัตกรรมก้าวสู่ตลาดการค้าสากลได้อย่างยั่งยืน