___noise___ 1000

ดีแทค ผนึกภาควิชาการ ต่อยอด Mobility data หนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว

ดีแทค

ดีแทค

ดีแทค ร่วมกับมือ 3 องค์กรวิชาการ สดช. สถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ ดึงข้อมูล Mobility data แบบไม่ระบุตัวตน ต่อยอดสู่การวิเคราะห์การท่องเที่ยวเมืองรองจาก Big Data อย่างละเอียด เผย 3 แนวทางสำคัญส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในประเทศไทย หนุนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองรองสร้างท่องเที่ยวไทยให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data นี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนในการนำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทย์ของการวิจัยในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่ ‘การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว’ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อมูล” เชิงพฤติกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ Mobility data ที่มีข้อได้เปรียบและศักยภาพมหาศาล โดยเฉพาะความสามารถในการประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ

Mobility data

“ภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรใช้วิกฤตนี้ในการ ‘รีเซ็ต’ เพื่อทำความเข้าใจและสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศ สนับสนุนการเติบโตซึ่งกันและกัน นำมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและยั่งยืน” นายชารัด กล่าว

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของข้อมูลที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลและเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประเทศสู่ Digital Nation ข้อมูลที่เรียลไทม์จะช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่เพียงในบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก  การระบาดของโรคโควิด 19 ยังสร้างผลกระทบต่อภาคการค้าการบริการและการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก  ในขณะเดียวกัน ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศกำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากการลดลงของโรคระบาด  จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะสร้าง “สมดุล” ระหว่างการกระจายนักท่องเที่ยวและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดที่เป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

Mobility data
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ จากการวิจัยโดยใช้ข้อมูลการเคลื่อนที่หรือ Mobility data ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564* พบว่า ผู้เดินทางในภาพรวม เป็นเพศชายราว 40% เพศหญิงราว 35% และไม่ได้ระบุเพศ 25% โดยส่วนใหญ่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 54% ทั้งนี้ นักเดินทางท่องเที่ยว 47% มีอายุระหว่าง 21-40 ปีหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตามด้วยวัยกลางคน (41-60 ปี) มีสัดส่วนที่ 35% วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 14% และวัยเด็กและเยาวชน (ต่ำกว่า 20 ปี) ที่ 4%   นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะนักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดโควิด-19 พบว่ามีลักษณะเป็นการเดินทางแบบพักค้างถึง 67% และการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ 33%

นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ Mobility data สามารถสรุป 3 แนวทางเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้ดังนี้

การส่งเสริมMicro tourism หรือการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับในระยะการเดินทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชั่วโมง เพื่อมาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้รวมถึงบริโภคสินค้าและบริการของท้องถิ่น  ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณอายุ  การพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ทำได้โดยการผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผลผลิตและสินค้าของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่

เปิดโอกาสให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการที่เกิดจากทรัพยากรในพื้นที่  และสร้างรายได้เสริมจากท่องเที่ยวให้กับเกษตรกรและผู้ผลิต  การดำเนินการมุ่งเน้นการใช้สถานที่และอุปกรณ์ที่เกษตรกรและผู้ประกอบการมีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อลดต้นทุน ตัวอย่างเช่น เวิร์คชอปเรียนรู้การทำหัตถกรรมพื้นบ้าน การเที่ยวชมชุมชนเกษตรกรรมร่วมกับไกด์ท้องถิ่น การทดลองทำอาหารพื้นถิ่น การร่วมเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

Mobility data

ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้พัฒนาดัชนีชี้วัดศักยภาพของเมืองรองในพัฒนา Micro tourism จาก mobility data โดยใช้ 3 เกณฑ์ชี้วัด ได้แก่ 1. ปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่เข้ามาในพื้นที่  2.สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่สามารถดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กม. และ 3. ความสามารถในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบไปกลับได้จากระยะไกล จะพบว่า จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro tourism อย่างโดดเด่นมีจำนวน 16 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคราม สุพรรณบุรี และชุมพรตามลำดับ

การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่(Experience-based overnight tourism) เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกระจายผลลัพธ์เชิงบวกจากการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เนื่องจากการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเวลาพำนักของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวและเพิ่มโอกาสในการบริโภคสินค้าและบริการในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชน   นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนในช่วงระยะเวลาพักค้าง

Mobility data

ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถนำเสนอคุณค่าในด้านต่างๆ และออกแบบการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน เช่น การเข้าร่วมเทศกาล  การร่วมกิจกรรมบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์  การร่วมปลูกและดูแลป่าชุมชน  เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมต่างถิ่น (Cultural Exchange) และการสร้างกลุ่มผู้สนับสนุน (fanbase) สำหรับสินค้าและบริการของท้องถิ่นในระยะยาว

ทั้งนี้ จากการวัดศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่โดย mobility data ผ่าน 3 ดัชนีชี้วัด ได้แก่ 1.ปริมาณการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนในพื้นที่  2.สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่สามารถดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 เมตร และ 3.สัดส่วนการเลือกพักค้างของผู้มาเยือนในพื้นที่  พบว่ามี 21 จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคราม สตูล ตรัง และชัยภูมิ ตามลำดับ

การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster)เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางไปเยือนในการเดินทางท่องเที่ยว 1 ทริป เพื่อเพิ่มทางเลือกในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนพื้นที่ เพิ่มการใช้เวลาในการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในจังหวัดเมืองรอง  การพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดอาจดำเนินการได้โดยการสร้างเรื่องราว (Storytelling) เชื่อมโยงสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด การจัดโปรโมชั่นส่วนลดที่พักและร้านอาหารในกลุ่มจังหวัด การพัฒนากิจกรรมเพื่อสะสมแต้มผ่านสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่สามารถใช้ในแต่ละกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

Mobility data

ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ mobility data สามารถแบ่งประเภทของคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยวที่จังหวัดเมืองรองเป็นสมาชิกได้เป็น 4 รูปแบบ  ดังนี้ 1) กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา-สระบุรี  2) กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรองอยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี 3) กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง เช่น กลุ่มจังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสรรค์ และ 4) กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียง 2 จังหวัด โดยมีทั้งการจับคู่ระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง หรือระหว่างเมืองรองด้วยกันเอง เช่น จังหวัดปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา

“ดีแทคเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า Mobility data จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าใจรูปแบบการเดินทางและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวได้อย่างบูรณาการ เติมเต็มและเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนและการจัดทำนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวตั้งแต่ในระดับประเทศจนถึงท้องถิ่น  นอกจากนั้นข้อมูลชุดนี้ยังจะช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีและน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยการนำเอาข้อมูล Mobility data ไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและการแก้ไขปัญหาสังคม ภายใต้หลักจริยธรรมและการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่เพิ่มขึ้นนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโรคระบาด การย้ายถิ่นฐานแบบบังคับ ภาวะโลกร้อน การรับมือกับภัยธรรมชาติ เป็นต้น” นายชารัด กล่าว

สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเชิงลึกและเบื้องหลังการทำงานเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากซีรีส์บทความได้ที่ https://www.dtac.co.th/mobility-data

*ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ในโครงการนี้ เป็นชุดข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมภายใต้การกำกับและดูแลนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวดของดีแทค

banner Sample

Related Posts