___noise___ 1000

กทปส. ต่อยอดโครงการระบบสื่อสารภายในถ้ำ สู่ระบบดาต้า ผสาน 2 คลื่นความถี่

กทปส.

กทปส. เดินหน้าสนับสนุนนักวิจัย โครงการพัฒนาเพื่อบูรณาการระบบสื่อสาร ระบบระบุตำแหน่งและระบบสร้างภาพจำลอง สำหรับการสำรวจและทำแผนที่ถ้ำ สู่การพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงการจากการพัฒนาระบบเสียง ชูการสื่อสารด้วยดาต้า พร้อมพัฒนาระบบการสื่อสาร 2 ระบบความถี่ ที่จะรับส่งผ่านการแปลงระหว่างคลื่นความถี่ 2.4 GHz และ 350 kHz ตามความเหมาะสมกับพื้นที่ และต่อยอดการใช้งานระบบการสแกนถ้ำแบบ 3 มิติ เพื่อประโยชน์ในการกูภัย การศึกษา และพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหัวหน้าโครงการศึกษาแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบสื่อสารรวมทั้งการสร้างแบบจำลองและระบุตำแหน่งในถ้ำ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากเหตุการณ์ ที่นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า 13 คน ติดอยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอน ซึ่งปัญหาของการช่วยเหลือนั้นก็คือ เราไม่รู้ว่าตำแหน่งที่แท้จริงที่อยู่ในถ้ำคือตำแหน่งใดบนพื้นโลก เพราะฉะนั้นวิธีการหาก็จะค่อนข้างลำบากและก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถที่จะติดต่อด้วยระบบสื่อสารไร้สายได้

กทปส.

เราจึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับสำนักงาน กสทช. ว่าเราน่าจะมีระบบสื่อสารสำหรับในกรณีเกิดภัยพิบัติที่อยู่ภายในถ้ำ เพื่อจัดทำแผนผังถ้ำ ผนวกกับตำแหน่งต่าง ๆ ภายในถ้ำ ซึ่งจะต้องตรงกับตำแหน่งที่เราสามารถระบุพิกัดได้จากดาวเทียม

ชนัณภัสร์ วานิกานุกูล ผู้อำนวยการส่วน รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา (กทปส.) กล่าวว่า กทปส. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต ก็เลยเป็นที่มาของโครงการแรกที่เราริเริ่มขึ้นมาก่อน เพื่อเป็นการศึกษาวิจัยค้นหาคลื่นความถี่ที่สามารถจะสื่อสารติดต่อกันภายในถ้ำ ในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติที่เครื่องมือสื่อสารปกติไม่สามารถใช้งานได้

กทปส.

รศ.ดร.รังสรรค์ กล่าวเสริมว่า โครงการแรก เราต้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีที่เกิดภัยพิบัติในถ้ำ โดยประเทศไทยมีถ้ำอยู่ 2 ลักษณะก็คือเป็นถ้ำที่เป็นหินปูน และถ้ำที่เป็นหินทราย เราใช้เวลาในการพิสูจน์ทราบในเรื่องของพฤติกรรมของคลื่นความถี่ต่าง ๆ ตั้งแต่ความถี่ต่ำ จนกระทั่งถึงความถี่สูงมาก จนเราได้คำตอบออกมาว่าความถี่ที่เหมาะสมสำหรับใช้กับถ้ำ ทั้งที่เป็นหินทรายและถ้ำที่เป็นหินปูน ควรใช้ความถี่ที่ประมาณ 350 kHz

และสิ่งที่เราได้เพิ่มเติมก็คือ เรื่องของระบบสื่อสารที่เราเลียนแบบระบบที่เราเรียกว่า Trunked Radio เพื่อให้เราสามารถถ่ายทอดสัญญาณจากปากถ้ำ เข้าไปยังข้างในปลายถ้ำได้ ซึ่งใช้ความถี่ที่มีใช้กันอยู่ ก็คือ 2.4 GHz ก็สามารถที่จะใช้งานได้

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เราได้เพิ่มเติมมาอีก ก็คือเครื่องมือในการระบุตำแหน่ง โลเคชั่นที่อยู่ภายในถ้ำ ซึ่งจะบอกค่าเป็นละติจูด-ลองติจูด และสิ่งสุดท้ายในโครงการแรกที่เราได้มา ก็คือระบบสแกนภาพภายในถ้ำแบบ 3 มิติ แล้วก็ 2 มิติ โดยใช้เลเซอร์สแกน นั่นคือโครงการแรกที่เราดำเนินการไปแล้ว และก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

กทปส.

สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากโครงการแรก แต่เดิมโครงการเก่าเราใช้ Voice เพียงอย่างเดียว แต่โครงการใหม่จะพัฒนาระบบส่งข้อมูล (ดาต้า) และในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาระบบวิทยุสื่อสาร 2 ระบบก็คือระบบ 2.4 GHz ที่อยู่ภายในถ้ำ และระบบ 350 kHz ที่อยู่ปากถ้ำ จะสามารถลิงค์เชื่อมต่อกันเป็นระบบเดียวกันได้

หลังจากขึ้นเมื่อลากสายขึ้นไปบนภูเขาแล้วระบบ 350 kHz ที่อยู่บนภูเขา จะถ่ายทอดและเปลี่ยนความถี่ใหม่เป็น 3 MHz แล้วก็ส่งลงไปยัง ศูนย์บัญชาการ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านล่าง สามารถทำนายเหตุการณ์ขั้นตอนในแต่ละขั้นตอนได้อย่างถูกต้องและเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการกู้ภัยได้อย่างปลอดภัย

เรื่องของภาพภายในถ้ำที่เราได้จากเครื่องสแกน 3 มิติ ซึ่งสามารถทำแผนที่ถ้ำที่ยังไม่เคยมีใครทำ เอาไว้ให้สำหรับกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องถ้ำโดยตรง ซึ่งจะได้เอาไปใช้ประโยชน์อันเป็นผลลัพธ์จากการวิจัยได้อย่างแท้จริง

กทปส.

ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ที่ปรึกษาโครงการฯ นักธรณีวิทยา และอดีตข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การทำผังถ้ำที่ได้มาตรฐานและระบบการสื่อสารภายในถ้ำ ซึ่งหายากมาก กรณีนี้จะช่วยได้มากในเรื่องของการ หนึ่ง ก็คือเรื่องการจัดการถ้ำ โดยเฉพาะกรณีที่มีอุบัติเหตุหรือเกิดเหตุการณ์ คล้าย ๆ กรณี 13 หมูป่า ก็สามารถใช้ประโยชน์จากผังถ้ำที่มีความละเอียดมากขึ้น ทำให้รู้ว่าสภาพถ้ำเป็นอย่างไร สูงต่ำตรงไหน ถ้าน้ำท่วมมาจะอยู่ตรงไหนบ้าง

สอง ในแง่ของการท่องเที่ยว ปัจจุบันเรามีถ้ำในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ถ้ำ เพราะฉะนั้นการมีข้อมูลที่ดี การมีวิธีการที่ดี ก็สามารถที่จะช่วยเรื่องการจัดการถ้ำได้ อย่างน้อยการจัดทำภาพถ้ำแบบ 3มิติ ก็สามารถที่จะมอนิเตอร์สภาพถ้ำได้ เพราะว่าบริเวณภายในถ้ำที่มีความบอบบางมาก ๆ ถ้าเราสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจสอบ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีความเสียหายอย่างไร ที่สำคัญมันจะเกี่ยวเนื่องไปยังการอบรมมัคคุเทศก์ ให้มีมาตรฐานในการดูแลและควบคุมนักท่องเที่ยวในการเข้าถ้ำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวถ้ำและผู้ที่เข้าไปในถ้ำ

รศ.ดร.รังสรรค์ กล่าวเสริมว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดอีก ในกรณีแบบถ้ำหลวง กรณี 13 หมูป่า แล้วระบบสื่อสารของเราสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับประเทศไทย ซึ่งเราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าถ้าระบบทุกอย่างมันเรียบร้อยทั้งหมด แม้แต่เกิดเหตุการณ์ข้ามทวีปแล้วต้องการขอความช่วยเหลือด้านระบบสื่อสารของเราของประเทศไทย เราก็พร้อมที่จะไปช่วยเหลือ

ชนัณภัสร์ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ทาง กทปส. เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนของตัวโครงการ เพราะฉะนั้นในทุกโครงการเราจะมีระบุไว้ในตัวโครงการ ว่าจะต้องมีความร่วมมือกับส่วนราชการ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วผลงานวิจัย พอทำออกไปแล้ว เราไม่อยากจะให้ขึ้นหิ้ง เราอยากจะให้ผลงานนั้นออกทำประโยชน์สู่สาธารณชน ถ้าเกิดเหตุภัยพิบัติในอนาคตเครื่องมืออันเนี้ เราไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพราะประเทศไทยมีของเราเองแล้ว เราสามารถจะใช้เครื่องมือนี้บรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

หากนักวิจัยต้องการจะยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาเพื่อขอรับทุน ในทุกปีเราจะเปิดรับข้อเสนอเพื่อรับทุน Open Grant ปีละ 1 ครั้ง โดยในการเปิดรับข้อเสนอของปี 2567 จะเปิดรับข้อเสนอตั้งแต่ เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ( กทปส.) https://btfp.nbtc.go.th หรือที่เบอร์โทร 02-554-8124

banner Sample

Related Posts