กรุงเทพฯ – การประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา ปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างดุเดือด โดยมีการตั้งคำถามถึงที่มาของปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทย และการส่งออกปลาชนิดนี้กว่า 2 แสนตัว ซึ่งสร้างความตกใจให้กับอธิบดีกรมประมง
- – ดีป้า ประกาศ 35 ศูนย์ซ่อมโดรนเกษตรเฟสแรก
- – รัฐบาลไทยเดินหน้าเต็มสูบ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจาก ญี่ปุ่น
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานอนุ กมธ. ได้เปิดประเด็นด้วยการอ้างอิงงานวิจัยของกรมประมงเอง ที่ระบุว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทยมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมสูงมาก มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่ จึงตั้งคำถามว่า หากสามารถตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของปลาตัวอย่างที่บริษัทเอกชนมอบให้กรมประมงได้ ก็อาจจะสามารถหาต้นตอของการระบาดได้
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงตัวอย่างปลาหมอคางดำจำนวน 25 ตัว ที่บริษัทซีพีเอฟอ้างว่าได้มอบให้กรมประมงไปแล้ว แต่อธิบดีกรมประมงกลับยืนยันว่าไม่มีหลักฐานการรับมอบ โดยอ้างว่าอาจสูญหายไปเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งอธิบดีกรมประมงกล่าวว่า “วกกลับมาที่ ปลาหมอคางดำ 2,000 ตัวว่านำเข้ามาทางด่านสุวรรณภูมิ ตนได้เรียกสมุดคุมมาแล้ว ก็ไม่มี แต่บริษัทเอกชนกล่าวอ้างว่าส่งมา จึงต้องไปดูที่ต้นทาง ถ้ามีก็ขอให้นำมาเปิดเผย
ตอนนี้กรมประมงใช้งบป้องกันและเฝ้าระวังไป 1.79 ล้านบาท งบโครงการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ปี 61 จำนวน 11 ล้านบาท งบวิจัย ปี 61 จำนวน 4000,000 บาท และงบส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการของบประมาณ 181ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 5 เรื่อง กำจัด / ปล่อยปลานักล่า / รณรงค์ให้มีการบริโภค / สำรวจและรายงาน และประชาสัมพันธ์ แต่ยังไม่เห็นชอบงบประมาณ ซึ่งตนจะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว”
นพ.วาโย ยังเปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ IBC ของกรมประมง ที่มีมติอนุญาตให้นำเข้าปลาหมอคางดำ ภายใต้เงื่อนไขให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบปลาอย่างน้อย 3 ตัว เพื่อตรวจสอบ DNA แต่กลับไม่มีการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธาน กมธ. ได้กล่าวขอบคุณอธิบดีกรมประมงที่จัดแถลงข่าวชี้แจงต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม แต่ก็ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการหาคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของปลาหมอคางดำ และการส่งออกปลาชนิดนี้จำนวนมาก โดยตั้งคำถามถึงความถูกต้องของข้อมูลการส่งออก และกระบวนการตรวจสอบปลาตัวอย่าง
อธิบดีกรมประมงยอมรับว่า เอกชนไม่ได้ตัดครีบปลาหมอคางดำส่งมาให้กรมประมงตรวจสอบตามที่ระบุไว้ในสัญญา และแสดงความตกใจเมื่อทราบว่ามีการส่งออกปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 17 ประเทศ โดยกล่าวว่า “นักข่าวก็ถามตน ตนก็ตกใจ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ จึงตั้งทีมค้นคว้าเรื่องนี้ พบว่ามีการส่งออกปลาเมื่อปี 2556-2559 ไป 17 ประเทศ โดยมีผู้ส่งออก 11 ราย มีปลาทั้งสิ้น 230,000 ตัว แต่ปี 2561 ตอนแก้กฎกระทรวงก็ไม่มีการส่งออก ย้ำว่าอะไรที่เราเจอเราก็นำเรียนให้ทราบ”
อธิบดีกรมประมงยังชี้แจงประเด็นข้อกฎหมาย และยืนยันว่ากรมประมงพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ โดยเชิญคณะอนุ กมธ. เข้าเยี่ยมชมกรมประมงเพื่อตรวจสอบข้อมูล และกล่าวว่า “กรมประมงเป็นกลุ่มโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ เชิญครับ ไปเยี่ยมกรมประมง วันไหนที่ไปก็ขอให้บอกล่วงหน้าสักอาทิตย์หนึ่งนะครับ”
นพ.วาโย ได้ทวงถามถึงตัวอย่างครีบปลาที่ควรจะมีการเก็บไว้ และตั้งคำถามว่าหากไม่มีการเก็บตัวอย่างครีบปลา จะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมประมงชี้แจงว่า “ความหมายคือเอกชนต้องเป็นคนตัดและส่งครีบมาให้กรมประมง เพื่อเอาไว้ตรวจสอบ เอกชนไม่ได้ตัดส่ง จึงเป็นที่มา” และขอกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง
นอกจากนี้ อธิบดีกรมประมง ยังได้กล่าวถึงลักษณะการรุกรานของปลาหมอคางดำว่า “ถามว่าเขารุกรานอย่างไร ในเมื่อเหมือนปลานิลและปลาหมอเทศ ความรุกรานของเขาคือกินทั้งพืชและสัตว์ กุ้ง ลูกหอย แต่จากการผ่าองค์ประกอบอาหารในกระเพาะเขา พบว่าร้อยละ 94 เป็นพืช ที่เหลือเป็นลูกสัตว์ ซึ่งรุกรานไปทั่วยุโรป อเมริกา และหลายพื้นที่ของเราในตอนนี้ เดิม 14 จังหวัด ตอนนี้ 16 จังหวัด ”
และกล่าวถึงระบบการส่งออกสัตว์น้ำว่า “ระบบการส่งออกสัตว์น้ำ เรามีระบบ ถ้าเป็นสัตว์น้ำเป็นสัตว์ควบคุม เช่น สัตว์อยู่ในบัญชี สัตว์คุ้มครอง การจะส่งออกต้องมีที่มา เช่น จระเข้ กรณีมีชีวิต ต้องมาขอใบรับรองจากกรมอนามัยว่าปลอดโรค และไปยื่นที่ด่าน ขอส่งไปปลายทางตามที่ประเทศนั้น ต้องรับรองโรค แต่ปลาหมอคางดำ มีประกาศห้ามไม่ให้ส่งออกปี 2561 ปี 2556-2559 ไม่ใช่เป็นสัตว์คุ้มครอง เขาก็เอาจากแหล่งธรรมชาติที่รุกรานอยู่ ต้องไปดูว่าแพร่กระจายเมื่อไหร่ ผมก็ไม่สามารถตอบได้ว่าเขาเอามาจากไหน แต่ก็เห็นได้ว่าเมื่อมันชุกชุมจากธรรมชาติ เขาก็ไปเก็บจากธรรมชาติ”
#ปลาหมอคางดำ #การระบาดของปลาหมอคางดำ #กรมประมง #TheReporterAsia #สิ่งแวดล้อม #การประมง #ปัญหาสิ่งแวดล้อม #การเมือง #การเกษตร