กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดบ้านครบรอบ 8 ปี โชว์ผลงานเด่นตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ชูจุดเด่นการแก้ปัญหาภัยออนไลน์อย่างจริงจัง ตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยสู่ 30 อันดับแรกของโลกด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลภายในปี 2569
- – ดีป้า – ไอเอ็มซี เผยดิจิทัลไทยปี 66 โต 3.88% มูลค่าทะลุ 2 ล้านล้านบาท
- – มาร์เก็ตบัซซ ชี้โอกาสทองตลาดอาหารออร์แกนิคไทย คนไทยพร้อมจ่ายอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น 10-20%
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ดีอีได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญตามนโยบาย The Growth Engine of Thailand โดยมี 3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล ซึ่งตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ดีอีได้ดำเนินงานอย่างเข้มข้นในหลายด้าน
1. ปราบปรามภัยออนไลน์อย่างเข้มข้น
ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online Scam Operation Center: AOC) หรือศูนย์ AOC 1441 ได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการรับเรื่องร้องเรียนและระงับบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีการปิดกั้นเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการแก้ไขปัญหาบัญชีม้าและซิมม้าอย่างจริงจัง โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้
สายโทรเข้า AOC 1441: 985,538 สาย (เฉลี่ย 3,231 สายต่อวัน)
ระงับบัญชีธนาคาร: 291,256 บัญชี (เฉลี่ย 1,107 บัญชีต่อวัน)
ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย/URLs: 138,600 รายการ (เพิ่มขึ้น 11 เท่าจากปีก่อน)
ปิดกั้นเว็บพนัน: 58,273 รายการ (เพิ่มขึ้น 34.3 เท่าจากปีก่อน)
ระงับบัญชีม้า: กว่า 1,000,000 บัญชี
ระงับซิมม้า: กว่า 1,000,000 หมายเลข
นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมธุรกิจขนส่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้น และมีการเร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์
ขณะที่แนวทางในการคืนเงินเหยื่อผู้เสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีเงินที่ถูกอาญัติอยู่ราว 6,000 ล้านบาท และทรัพย์สินที่อาญัติไว้ราว 4,000 ล้านบาท ยังอยู่ในขั้นตอนของการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีการคืนเงินให้กับเหยื่อให้ได้เร็วที่สุด นอกจากนี้นายประเสริฐยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวเร่งดำเนินการนำเงินที่อาญัติไว้ให้มาอยู่ในครอบครองของภาครัฐเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากจำนวนเงินดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดรายได้จากอัตราดอกเบี้ย
2. แก้ปัญหาข้อมูลรั่วไหลเชิงรุก
ศูนย์ PDPC Eagle Eye โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังการรั่วไหลของข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดสัดส่วนการรั่วไหลของข้อมูลลงได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการซื้อขายข้อมูล ปิดกั้นโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้อง และจับกุมผู้กระทำผิด
ตรวจสอบหน่วยงาน: 43,561 หน่วย
ลดการรั่วไหลของข้อมูล: จาก 31.4% ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เหลือ 1.5% ในเดือนสิงหาคม 2567
ปิดกั้นโซเชียล: 110 เรื่อง
จับกุมผู้ซื้อขายข้อมูล: 9 ราย
ลงโทษปรับบริษัททำข้อมูลรั่ว: 7 ล้านบาท
3. ขับเคลื่อนดิจิทัลทั่วประเทศ
มีการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปจนถึงระดับหมู่บ้าน โครงการสำคัญ เช่น
Digital Korat: ต้นแบบเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค
ศูนย์ดิจิทัลชุมชน: แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล 2,222 แห่ง
อินเทอร์เน็ตสาธารณะ: ครอบคลุม 24,654 หมู่บ้าน
ชุมชนโดรนใจ: ใช้โดรนเพื่อการเกษตร ยกระดับทักษะเกษตรกรกว่า 1,000 คน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท
4. ก้าวสู่ Cloud Hub ของภูมิภาค
นโยบาย Cloud First Policy มุ่งเน้นการใช้ระบบคลาวด์ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อประหยัดงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการลงทุนด้านคลาวด์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ให้บริการระบบคลาวด์: 220 กรม (75,000 VM)
ประหยัดงบประมาณ: 30-50%
5. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทักษะด้าน AI
มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม National AI Service Platform เพื่อรวมบริการด้าน AI บนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) และมีการเตรียมความพร้อมด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคมที่เกี่ยวข้องกับ AI นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะ AI ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน
6. พัฒนากำลังคนดิจิทัล
มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัล 550,000 คน ร่วมกับภาคเอกชน และมีโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น โครงการ Global Digital Talent VISA, อาสาสมัครดิจิทัล และสภาเยาวชนดิจิทัล
7. ส่งเสริม Startup และ SMEs
มีโครงการและมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริม Startup และ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล เช่น
Thailand Digital Catalog: ช่วยให้ผู้ประกอบการดิจิทัลไทยเข้าถึงตลาดภาครัฐได้ง่ายขึ้น
Tax 200%: มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม SMEs ปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
เครื่องหมาย dSURE: รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
แก้ไขปัญหานำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน: ออกกฎหมายและมาตรการที่เข้มงวด
8. ไทยก้าวกระโดดด้านขีดความสามารถในการแข่งขันดิจิทัล
อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยดีขึ้น 5 อันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 40 ในปีก่อน และตั้งเป้าหมายที่จะขึ้นสู่อันดับ Top 30 ภายในปี 2569
นายประเสริฐ กล่าวว่า “กระทรวงดีอีพร้อมที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย คือการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ของภูมิภาค”
ทั้งนี้กระทรวงดีอีได้ดำเนินงานอย่างแข็งขันในหลากหลายด้าน เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มั่นคง ปลอดภัย และเท่าเทียม พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
#ดีอี #ผลงานเด่น1ปี #เศรษฐกิจดิจิทัล #ภัยออนไลน์ #CloudFirst #AI #SMEs #กำลังคนดิจิทัล