โคราช, ประเทศไทย – ดีอี เดินหน้าพัฒนาโคราชสู่มหานครดิจิทัล ยกระดับบริการไร้กระดาษ ชูเทศบาลเมืองปากช่องเป็นต้นแบบหน่วยงานรัฐนำร่องใช้ระบบ e-Document ยกระดับงานบริการประชาชน พร้อมส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลเพื่อผู้พิการอย่างทั่วถึง มั่นใจภาครัฐสามารถให้บริการไร้กระดาษได้จริง
- – สกมช. จับมือ สดช. ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย คลาวด์ภาครัฐ
- – ดีอี – ดีป้า ปูทางดึง Slush จัดในไทย ยกระดับสู่ศูนย์กลางดิจิทัลอาเซียน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นของกระทรวงดีอีในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงระบบ e-Document และ e-Office ให้กับประชาชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
นายประเสริฐ ชูเทศบาลเมืองปากช่องเป็นหน่วยงานต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการนำระบบ e-Document มาใช้ โดยเทศบาลเมืองปากช่องได้เริ่มนำระบบ e-Document มาใช้ในการออกเอกสารสำคัญ การจัดเก็บข้อมูลทะเบียน และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งช่วยลดภาระงานเอกสาร ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล พิสูจน์ให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถให้บริการแบบไร้กระดาษได้จริง
“วันนี้ ผมได้เดินทางมาเพื่อดูถึงประสิทธิภาพแล้วก็ผลลัพธ์ของการดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีข้อสงสัยอยู่บ้าง เราก็จะส่งทีมงานจากกระทรวงดีอีเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางเทศบาลเมืองปากช่องได้เริ่มทำแล้ว โดยได้เริ่มลงเอกสารเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และในอนาคต หากเทศบาลแห่งนี้เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ขึ้นก็จะสามารถขยายตัวระบบเพื่อรองรับได้ แล้วก็อาจจะเป็นต้นแบบให้อีกเทศบาลหลายแห่งได้ดำเนินการตาม” นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้สถิติจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ส่งเสริมการใช้งานระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และระบบ e-Office ภายใต้งานบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ให้กับส่วนราชการต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำงาน และยกระดับการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอาจมีอุปสรรคและข้อสงสัย โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย ความปลอดภัยของข้อมูล และความจำเป็นในการจัดเก็บเอกสาร ซึ่งกระทรวงดีอี พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น โดยจะเร่งดำเนินการทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับข้อกฎหมายและความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานระบบ e-Document
“ในส่วนของข้อกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน เพราะว่าข้อสงสัยบางเรื่อง ทั้งเรื่องความปลอดภัยของเอกสาร เรื่องของกฎหมาย พรบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่นว่า ถ้ามีระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังจำเป็นต้องเก็บเป็นกระดาษอยู่หรือไม่เป็นต้น” นายประเสริฐ กล่าว
การดำเนินงานด้าน e-document จ.นครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมามีหน่วยงานในจังหวัดให้ความสนใจและแจ้งความต้องการขอใช้งานระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระยะที่ 1 จำนวน 341 หน่วยงาน ได้แก่ ส่วนราชการ 50หน่วยงาน (จาก 231 หน่วยงาน) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 291 แห่ง (จาก 334 แห่ง) และมีจำนวนผู้ใช้งาน 15,219 บัญชีผู้ใช้งาน (users) ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,775 CA(Certification Authority)
การดำเนินการได้แบ่งกลุ่มผู้ขอใช้งานระบบออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) ส่วนราชการ 1 กลุ่ม และ (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 291 แห่ง ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้
(1) ดำเนินการ Kickoff โครงการเพื่อชี้แจงขอบเขตการดำเนินโครงการฯ ครบทั้ง 4 กลุ่ม : ส่วนราชการ 50 หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 291 แห่ง จำนวน 4 ครั้ง เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567
(2) อบรมชี้แจ้งการใช้ระบบงานให้แก่ ผู้ใช้งานระบบ (User) และผู้ดูแลระบบ (Admin) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มที่ 1 ใน 9 อำเภอ จำนวน 100 แห่ง ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเสิงสาง อำเภอคง อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอโชคชัย อำเภอขามสะแกแสง อำเภอประทาย อำเภอปากช่อง และอำเภอวังน้ำเขียว จำนวนบัญชีผู้ใช้งาน (user) จำนวน 4,505 บัญชี ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 512 CA เมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2567 และจะเริ่มใช้งานระบบได้หลังจากอบรม 1 สัปดาห์
(3) เริ่มใช้งานระบบจริง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองปากช่อง บัญชีผู้ใช้งาน (user) จำนวน 120 บัญชี user ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 CA
(4) จังหวัดนครราชสีมามีแผนขับเคลื่อนการใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Office) ของส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมในระยะที่ 1 ให้ใช้งานระบบได้ภายในเดือนธันวาคม 2567
(5) จังหวัดนครราชสีมา มีแผนเชิญชวนส่วนราชการ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหลือเข้าร่วมขับเคลื่อนการใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ในระยะที่ 2 ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2567 จนครบทุกหน่วยงาน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชน @ View Share Farm ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลให้กับกลุ่มผู้พิการที่ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน โดยวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ในการนำเทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะ ระบบ Smart Farm และระบบพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ ยอมรับว่า โครงการดังกล่าวยังคงประสบปัญหาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ต และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งกระทรวงดีอี จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงดีอี มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบไร้กระดาษในหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย พัฒนาศักยภาพของประชาชนและบุคลากร ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน
#โคราช #มหานครดิจิทัล #eDocument #DigitalKorat #รัฐบาลดิจิทัล #ดีอี #ปากช่อง #สมาร์ทซิตี้ #GDCC #คลาวด์กลางภาครัฐ #เทคโนโลยีดิจิทัล #ผู้พิการ #SmartFarm #ดีป้า