ย้อนรอย ตัวอย่าง การควบรวม กิจการโทรคมนาคมทั่วโลก

การควบรวม

การควบรวม

โลกของการสื่อสารมีการแข่งขันที่ดุเดือดและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เทียบเท่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาแบบนาทีต่อนาที การควบรวม กันของกิจการก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการแข่งขันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ขยายตลาด การปกป้องส่วนแบ่งตลาด การกลืนคู่แข่ง หรือแม้กระทั่งการช่วงชิงความเป็นเจ้าตลาด วันนี้ TheReporterAsia ได้รวบรวม ตัวอย่างการซื้อและ การควบรวม กิจการด้านโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นในทั่วโลกบางส่วนมาให้ได้เห็นเป็นแนวทาง ในการเทียบเคียงการควบรวมที่กำลังมีความพยายามให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

      1.การควบรวม T-Mobile และ Sprint แบบมีเงื่อนไข ในสหรัฐอเมริกา

ดีลนี้เกิดขึ้นราวปี 2561 นับเป็นการควบรวมของยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเบอร์ 3 และเบอร์ 4 ของสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยแนวคิดของการรวมกันเพื่อเป็นทางรอดที่ดีกว่าของการให้บริการ 5G ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น และคาดว่าจะทำให้ T-Mobile มีความแข็งแกร่งมากกว่าเบอร์ 1และ 2 อย่าง เวอริซอน (Verizon) และเอทีแอนด์ที (AT&T) ที่มียอดผู้ใช้บริการในขณะนั้นกว่า 100 ล้านราย โดยดีลนี้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาจวบจนจบดีลราว 2 ปี และลดทอนจำนวนผู้ให้บริการในสหรัฐอเมริกาจาก 4 รายเหลือเพียง 3 ราย

ซึ่งองค์กรกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกาก็ได้พิจารณาอนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่าง T-Mobile และ Sprint ได้ตามคำขอ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจน

  • ต้องขยายโครงข่าย 5G ให้ประชาชนสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าถึงได้ อย่างน้อย 97% ภายใน 3ปี และเพิ่มขึ้น 99% ให้ได้ภายใน 6 ปี โดยในกรอบเวลาดังกล่าว 90% ของประชากรทั้งหมดและผู้อาศัยในพื้นที่ชนบทอย่างน้อย 2 ใน 3 จะต้องสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วอย่างน้อย 100 เมกะไบต์/วินาที
  • T-Mobile ต้องขายธุรกิจโทรคมนาคมบางส่วนให้กับ Dish Network บริษัทผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมที่จะเข้ามาสู่ตลาดโทรคมนาคมในอนาคต โดยองค์กรกำกับดูแลคาดหวังว่า Dish จะกลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับที่ 4 แทน Sprint เพื่อให้ลดโอกาสที่ T-Mobile ซึ่งกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อาจจะใช้อำนาจเหนือตลาดเอาเปรียบผู้บริโภคภายหลังการควบรวม

ซึ่งหาก T-Mobile ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ บริษัทอาจต้องเจอค่าปรับมูลค่าถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การควบรวม

      2.การควบรวมระหว่าง Idea Cellular และ Vodafone India ในอินเดีย

ราวปี 2561 มีการควบรวมกิจการระหว่าง Idea Cellular และ Vodafone India ซึ่งนับเป็นการควบรวมกิจการด้านโทรคมนาคมครั้งใหญ่ของอินเดียด้วยมูลค่าการซื้อขายราว 1.4 แสนล้านรูปี (ราว 1,760 ล้านเหรียญสหรัฐ) และทำให้ Vodafone Idea หรือ VI ซึ่งเป็นชื่อใหม่หลังการควบรวมสำเร็จ กลายเป็นผู้ให้บริการที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการสูงถึง 408 ล้านรายในขณะนั้น (ข้อมูลปี 2561) ด้วยแนวคิดของการเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างสรรค์ Digital India

โดยการควบรวมกิจการได้รับการอนุมัติจากกรมโทรคมนาคมอินเดีย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 และควบรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ทำให้เกิดนิติบุคคลใหม่จากการควบรวมที่ชื่อว่า Vodafone Idea Limited ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงที่ว่า Vodafone Group ถือหุ้น 45.2% และกลุ่ม Aditya Birla Group ถือหุ้น 26% ส่วนหุ้นที่เหลือจะเปิดขายเป็นสาธารณะ วึ่งหลังการควบรวมสำเร็จ Vi ก็สูญเสียสมาชิกผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากในเดือนสิงหาคม 2020 จวบจนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเป็นอันดับ 3 ของอินเดีย

โดยดีลนี้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาการควบรวมนับตั้งแต่เริ่มต้นจวบจนจบดีลราว 1 ปี 5 เดือน และลดทอนจำนวนผู้ให้บริการในอินเดียจาก 5 รายเหลือจำนวน 4 ราย

      3.การควบรวมระหว่าง AT&T และ T-Mobile ในสหรัฐอเมริกา ไม่สำเร็จ

ดีลนี้เกิดขึ้นราวปี 2554 ที่ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอย่าง AT&T และ Deutsche Telekom ออกมาประกาศว่ากำลังเจรจาซื้อกิจการ T-Mobile ในสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากดีลนี้สำเร็จ AT&T จะกลายมาเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐด้วยจำนวนผู้ใช้บริการรวมกันกว่า 130 ล้านราย และลดจำนวนผู้ให้บริการลงจาก 4 รายเหลือเพียง 3 ราย

แต่กระนั้นการควบรวมดังกล่าวต้องผ่านการอนุมัติจาก Federal Communications Commission (FCC ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัญ เพื่อควบคุมการสื่อสารโทรคมนาคมทุกรูปแบบภายในสหรัฐอเมริกาก่อน ซึ่งจะมีการใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 12 เดือน และปลายปี 2554 ผลของการพิจารณาก็ออกมาว่า “ไม่อนุมัติ” ทำให้ AT&T ต้องจ่ายเงินให้ T-Mobile เป็นจำนวน $39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดชเยการสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา

      4.การควบรวมระหว่าง 3 Three และ O2 ในประเทศอังกฤษ ไม่สำเร็จ

ดีลนี้ เริ่มต้นขึ้นราวปี 2558 ด้วยการประกาศอย่างเป็นทางการของ Telefonica ว่า Hutchison Whampoa บริษัทแม่ของเครือข่าย 3 Three ได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อกิจการเครือข่าย O2 จากบริษัท ด้วยมูลค่าสูงถึง 10,250 ล้านปอนด์ (หรือประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ให้บริการของประเทศอังกฤษเหลือเพียง 3 ราย คือ Vodafone, EE (Everything Everywhere) และ 3 Three (ซึ่งควบรวมกับ O2) และยังทำให้ 3 Three กลายเป็นผู้ให้บริการที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดในประเทศไปโดยปริยาย และหลังจากนั้นก็มีการปรับสถานะหุ้น O2 เป็น “รอขาย” (held for sell) เพื่อรอจนกว่าทางการของสหราชอาณาจักรจะอนุมัติการเข้าซื้อกิจการนี้อย่างเป็นทางการ

แต่หลังจากนั้นราว พฤษภาคม 2559 คณะกรรมาธิการยุโรปก็ได้ดับฝัน 3 Three ในการขอซื้อกิจการ O2 ด้วยการ “ไม่อนุมัติ” ภายใต้กฎระเบียบการควบรวมกิจการของสหภาพยุโรป ด้วยความกังวลเป็นอย่างมากว่า ลูกค้ามือถือในสหราชอาณาจักรจะมีทางเลือกน้อยลงในการใช้บริการและจะต้องจ่ายราคาค่าบริการที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการและข้อตกลงดังกล่าวอาจจะเป็นอันตรายต่อการพัฒนานวัตกรรมมือถือในอนาคต

โดยการพิจารณามีขึ้นหลังจากการสอบสวนเชิงลึกของคณะกรรมาธิการต่อต้านการผูกขาดทางการค้าของสหภาพยุโรป จนกลายเป็นผลของการ “ไม่อนุมัติ”  ภายใต้ข้อกังกล 3 ข้อดังต่อไปนี้ที่ 3 Three  ไม่สามารถยื่นเงื่อนไขให้คลายความกังวลลงได้ ได้แก่ 1.จำนวนผู้แข่งขันที่น้อยลงจะทำให้ราคาสูงขึ้นและลดทางเลือกและหรือคุณภาพสำหรับผู้บริโภค 2.การควบรวมอาจจะขัดขวางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมในอนาคต 3.จำนวนผู้ให้บริการหลักลดลง ส่งผลให้ผู้ให้บริการแบบไม่มีเครือข่าย (MVNO) อ่อนแอลงตาม ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวใช้ระยะเวลาราว 8 เดือน

การควบรวม

      5.การควบรวมระหว่าง Rogers และ Shaw ในแคนาดา ยังไม่อนุมัติควบรวม

ดีลนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา Rogers ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการมือถือเบอร์ 1 ของแคนนาดาได้ประกาศความสนใจที่จะซื้อกิจการ Shaw ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเบอร์ 4 ด้วยมูลค่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเข้าสู่เส้นทางผู้ให้บริการมือถือเบอร์ 4 ของ Shaw นั้นมีความน่าสนใจตรงที่  Shaw ได้สร้างความสั่นคลอนให้กับผู้ให้บริการ 3 รายเดิม ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาเป็นอย่างมาก ด้วยรูปแบบการทำแคมเปญทางการตลาดที่ทำให้แพคเกจมือถือมีราคาถูกลง และเงื่อนไขของการซื้อมือถือแบบไม่ติดสัญญา ก็ทำให้สัดส่วนผู้ใช้บริการของ Shaw เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราวเดือนพฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าประเทศแคนาดา (Competition Bureau) ได้ยื่นฟ้องต่อคณะตุลาการแข่งขันทางการค้า (Competition Tribunal) เพื่อขอให้คณะตุลาการฯมีคำสั่งห้ามการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ ระหว่าง Rogers และ Shaw แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมของแคนาดาแล้วก็ตาม โดยคณะกรรมการว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าประเทศแคนาดาได้ยื่นขอให้คณะตุลาการฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว มิให้ Rogers และ Shaw ควบรวบกิจการเสร็จสมบูรณ์ (Closing) จนกว่าคณะตุลาการจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ด้วยเหตุผลที่ว่าการควบรวมจะทำให้การแข่งขันอ่อนแอลง ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น มีตัวเลือกน้อยลงและได้คุณภาพลดลง

Matthew Boswell คณะกรรมการ (บอร์ด) ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแคนนาดา กล่าวว่า สำนักงานฯได้ดำเนินการสืบสวนอย่างเข้มงวดสำหรับความพยายามควบรวมกิจการระหว่าง Rogers กับ Shaw และสรุปได้ว่า การควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นการขัดขวาง หรือ ทำให้การแข่งขันทางการค้าในธุรกิจไวร์เลสลดน้อยลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ Shaw และ Rogers เป็นคู่แข่งกันโดยตรง การกำจัด Shaw จะทำลายความเข้มแข็ง และการแข่งขันอย่างเสรีของธุรกิจไวร์เลสในแคนาดา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการลดราคา จึงเป็นเหตุให้สำนักงานฯ เร่งดำเนินการเพื่อยับยั้งการควบรวมนี้เพื่อปกป้องการแข่งขันทางการค้า และทางเลือกในการเข้าถึงบริการที่ดีของผู้บริโภคแคนาดา ที่ควรต้องได้รับบริการที่ดีสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีคุณภาพสูง

ทั้งนี้ขณะที่ยังไม่มีการอนุมัติการควบรวมกิจการดังกล่าว คณะกรรมการได้ตรวจพบว่า Shaw ได้ชะลอการขยายเสาสัญญาณ และลดความร้อนแรงของแคมเปญทางการตลาดลง หลังได้รับข้อเสนอจาก Rogers อย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจาณาได้ราว 3 เดือน ทาง Rogers คาดว่าจะจบการพิจารณาได้ภายในปี 2565 นี้

การควบรวม

       6.การควบรวมระหว่าง TPG telecom และ Vodafone ในออสเตรเลีย

ดีลนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 TPG telecom ได้ตัดสินใจที่จะควบรวมกิจการกับ Vodafone ในออสเตรเลีย แต่ได้รับการเตือนจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของออสเตรเลีย ว่าการควบรวมดังกล่าวอาจจะส่งผลเสียต่อการแข่งขันเนื่องจากจำนวนผู้ให้บริการที่ลดลงจาก 4 รายจะเหลือเพียง 3 ราย ซึ่งทำให้การควบรวมดังกล่าวหยุดชะงักลง จวบจนมีผลของการพิจารณาจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันออสเตรเลียหลังใช้ระยะเวลาราว 9 เดือนออกมาว่า “ไม่อนุมัติการควบรวม”

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ TPG telecom ได้ยุติความพยายาม โดยได้ยื่นคัดค้านต่อศาลออสเตรเลีย ซึ่งใช้เวลาสอบสวนอีกราว 9 เดือนจนได้รับการตัดสินว่าสนับสนุนให้สามารถควบรวมกิจการมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (10.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ระหว่าง TPG Telecom และ Vodafone ได้ แม้ว่าจะมีการต่อต้านจากหน่วยงานกํากับดูแลการแข่งขันของประเทศออสเตรเลียก็ตาม

ขณะที่กรณีตัวอย่างของ ฟิลิปปินส์ ที่สำนักงาน กสทช นำเสนอบอร์ดเป็นตัวอย่าง แล้วแจ้งว่ามีเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนั้น กลับมีบริบทของสภาพตลาดที่แตกต่างกับประเทศไทยอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของ 1.ที่มาและโครงสร้าง (ผู้ถือหุ้น) ของผู้ให้บริการ กล่าวคือผู้ให้บริการ Smart มีประวัติการถือครองหุ้นและโครงสร้างที่แตกต่าง ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือ PLDT ที่เป็นผู้ถือหุ้นต้นกำเนิดของ Smart และเป็นอดีตรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ เทียบได้กับบริการของ CAT ผนวก TOT

และผู้ให้บริการอีกราย Globe เสมือนเป็นผู้เคยผูกขาดแบบ TOT อยู่เดิม แต่บังเอิญการผูกขาดนี้เป็นการผูกขาดที่เอกชนได้สัมปทาน เพียงแต่เป็นระบบสัมปทานที่เกิดขึ้นในอดีต และการบริหารงานก็ถือว่าเป็นรูปแบบเอกชนมากกว่า

การที่ตลาดถูกทำให้เหลือ 2 รายแบบฟิลิปปินส์ อาจกระทำได้ หาก 1 ใน 2 รายใหญ่นั้นมีสถานะเสมือนเป็น “รัฐวิสาหกิจ” เป็นผู้ที่ถือหุ้น ซึ่งจะมีผลในการบริหารงาน หรือเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันให้บริการในตลาดที่มีเพียง 2 ราย และอาจจะไม่ส่งผลเสีย หาก “รัฐ ในฐานะประชาชน” มีส่วนในการดำเนินงานเพื่อให้บริการ แต่โครงสร้างของไทยแตกต่างจากฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก การปล่อยให้เอกชน 2 รายกลายเป็น ผู้กุมอำนาจในตลาด ในหลักการกำกับดูแล ไม่ต่างกับปล่อยให้เกิด การผูกขาดโดยเอกชน 2 ราย คือ Private Duopoly ซึ่งในหลักทฤษฎี แล้ว การผูกขาดที่ อาจส่งผลเลวร้ายที่สุดคือการผูกขาดโดย “เอกชน” ไม่ใช่ natural duopoly / monopoly ที่ยังเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ และประชาชนผู้ใช้บริการเสมือนร่วมเป็นเจ้าของ

แน่นอนว่า หากการควบรวมของทรูและดีแทคได้รับการอนุมัติจริง ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการควบรวมจาก 3 รายใหญ่เหลือเพียง 2 รายใหญ่เท่านั้น ภายใต้บริบทอย่างไทย ๆ ดังนั้น การพิจารณาว่าจะสามารถควบรวมได้หรือไม่ จึงต้องใช้ความรอบครอบ รอบด้าน ทั้งประเด็นของระยะเวลาที่จะใช้ในการพิจารณาและกระบวนการพิจารณาที่โปร่งใส ตลอดจนผลกระทบต่อภาคประชาชน เหล่านี้จะต้องถูกนำมาเป็นตัวแปรสำคัญในการกลั่นกรองอย่างละเอียดรอบครอบ มากกว่าการเร่งรีบพิจารณาเพื่อให้มันจบ ๆ ไป โดยที่ไม่มองผลกระทบต่อผู้บริโภคที่อาจจะได้รับในอนาคต

banner Sample

Related Posts