วุ่นไม่จบ กสทช. ทวง กกท. คืนลิขสิทธิ์ ฟุตบอลโลก 600 ล้าน อ้างผิด MOU

ถ่ายทอดบอลโลก

ฟุตบอลโลก

บอร์ด กสทช. มีมติเป็นเอกฉันท์ เรียกคืนเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท คืนจาก กกท. หลังไม่ดำเนินการตาม MOU ภายใน 15 วัน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 หากเลยระยะเวลาที่กำหนด ด้าน กกท.โต้กลับ ทำตาม MOU ครบทุกประการ หากต้องการเรียกคืนอาจจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

กสทช.เรียกประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณา เรื่อง การดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ประเด็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) หลังจากที่สำนักงานฯ  ได้ทำหนังสือแจ้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ตามมติที่ประชุมบอร์ดครั้งที่32 / 2565  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เพื่อให้เกิดบริหารจัดการสิทธิในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายด้วยความเป็นธรรมเสมอภาคและทั่วถึง ซึ่งสำนักงาน กสทช. ขอให้กกท. ชี้แจงรายละเอียดของสัญญาที่จัดทำกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) รวมทั้งสัญญาข้อตกลงเงื่อนไขทางลิขสิทธิ์พี่จะทำกับบริษัทเอกชนรายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้สำนักงานทันที

ทั้งนี้ กกท. ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้ง ทั้งการไม่ส่งสัญญาที่ทำกับ FIFA และบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ปรับปรุงการบริหารจัดการสิทธิในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือแจ้งย้ำ เมื่อวันที่ 24 และ 30 พฤศจิกายน 2565 ให้กกท. ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้สงวนสิทธิตามข้อ8 ของบันทึกข้อตกลงโดย กกท. มีหน้าที่ชำระเงินสนับสนุนที่ได้รับไว้ทั้งหมดคืนแก่สำนักงานภายใน 15 วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง พร้อมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี(หากมี) ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อันเป็นผลเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ด้านดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ระบุว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท.) ได้ทำหนังสือ ชี้แจงไปยัง กสทช. แล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าในที่ประชุมบอร์ด กสทช. ได้เห็นหนังสือหรือไม่ โดย กกท. ยืนยันว่าได้ปฎิบัติตามกฎมัสต์ แคร์รี่ ด้วยการส่งสัญญาณไปยังทีวีดิจิทัล ทั้งภาคพื้นดินและดาวเทียมต่างๆ ซึ่งเข้าถึงทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องอยู่ในกรอบภายใต้ลิขสิทธิ์ด้วย

“ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนมายัง ซึ่งก็ได้โต้แย้งกลับไปแล้ว กกท. ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎ Must Carry (มัสต์แครี่) แต่อย่างใด และส่งสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้ทุกคนได้ดูแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายตามกฎ Must Have มัสต์แฮฟ (Must Have) แล้ว”

ดร.ก้องศักด กล่าวเสริมว่า “ศาลได้วินิจฉัยกรณีข้อพิพาทระหว่าง AIS กับ True โดยคำสั่งศาลได้กล่าวถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย และกสทช. ที่ดำเนินการถ่ายทอดฟุตบอลโลกให้ประชาชนได้ดูฟรีตามช่องทางต่างๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะ IPTV เท่านั้น ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมัสต์แคร์รี่แล้ว ซึ่งคำสั่งศาลเขียนไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นการดำเนินการของกกท.อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของคำสั่งศาล ไม่ได้ไปละเมิดอะไร”

“เรื่องนี้ต้องมานั่งพูดคุยกันให้ชัดเจน หาก กสทช. ยืนกรานเรียกเงิน 600 ล้านบาทคืน ก็คงต้องไปสู้กันในกระบวนการของกฎหมาย แต่ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น เนื่องจากเป็นองค์กรของรัฐด้วยกันทั้งคู่น่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ในการตกลงพูดคุยกันได้ แต่ในเมื่อมติออกมาแบบนี้ก็ยิ่งทำให้ กกท. สับสนไปกันใหญ่ ทั้งๆที่ควรจะเรียกไปพูดคุยกันก่อน”

banner Sample

Related Posts