ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์อันเป็นศูนย์กลางของอาเซียนทำให้เป็นที่ดึงดูดธุรกิจมากมาย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์หรือ ศูนย์ข้อมูล ในช่วงปี 2565 และ 2566 มีการลงทุนด้าน ศูนย์ข้อมูลในประเทศราว 42,000 ล้านบาท และ 18,800 ล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนในศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 7,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 280,000 ล้านบาท) ระหว่างปี 2567 ถึง 2570 คิดเป็นอัตราเติบโตต่อปีเฉลี่ย 31% มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง ไมโครซอฟท์ กูเกิล เอดับบลิวเอส เทนเซ็นท์ และอาลีบาบา ตลอดจนผู้เล่นระดับประเทศอย่าง กลุ่มทรู เซ็นทรัล และ เทเลเฮ้าส์
แม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่โครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ที่เป็นหัวใจสำคัญของศูนย์ข้อมูลนั้นมีองค์ประกอบมากมาย มีความซับซ้อน และมอนิเตอร์ได้ยาก โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีทั้งฮาร์ดแวร์ เช่น เซิร์ฟเวอร์ ตู้แร็ก ระบบระบายความร้อน กล้องวงจรปิด ตลอดจนถึงการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความชื้น ดังนั้นการมอนิเตอร์ระบบอย่างมีประสิทธิภาพจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อช่วยติดตามเฝ้าระวังระบบต่างๆ ในศูนย์ข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์
คอยสอดส่องความผิดปกติหรือการทำงานที่ผิดพลาด ป้องกันปัญหาระบบปิดตัวและหยุดทำงาน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น หากประเทศไทยต้องการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้าน ศูนย์ข้อมูล ระดับโลก การผสานกรอบการทำงาน การมอนิเตอร์ระบบแบบองค์รวมที่ทันสมัย ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหัวใจสำคัญของภารกิจดังกล่าว
การตรวจวัดประสิทธิภาพการดำเนินงาน ศูนย์ข้อมูล
ก่อนที่จะวางแผนกลยุทธ์การมอนิเตอร์ระบบ IT ให้แก่ศูนย์ข้อมูล เราควรเข้าใจองค์ประกอบต่างๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วยลักษณะ 5 ประการที่สำคัญ ดังนี้
● การทำงานแบบแยกส่วน – สภาพแวดล้อมระบบ IT เปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง ดังนั้นศูนย์ข้อมูลจึงต้องมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
● ศักยภาพในการรองรับการทำงาน – พื้นที่ของศูนย์ข้อมูลมาพร้อมค่าใช้จ่าย ทั้งเรื่องการก่อสร้างและการดำเนินงาน แต่หากพื้นที่เล็กเกินไป คุณอาจต้องเสียเงินมากกว่าเดิมถ้าต้องสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ เพราะแห่งแรกรองรับการทำงานได้ไม่เพียงพอตามความต้องการ
● ความพร้อมใช้งาน – ระบบ IT ล่มอาจสร้างความเสียหายทางการเงินได้มหาศาล และอาจถึงขั้นทำให้ดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาแง่มุมต่างๆ ให้รอบด้านตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนเพื่อให้ระบบมีระดับความพร้อมใช้งานสูงสุด
● ความยั่งยืน – ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่ประเด็นเดียวที่สำคัญต่อการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด แต่การประหยัดพลังงานและใช้อุปกรณ์ที่ทนทานยังช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย
● ฟังก์ชันการใช้งาน – โครงสร้างระบบของศูนย์ข้อมูลต้องเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด เพื่อจะได้ใช้งานได้ตรงตามความต้องการ
เนื่องจากระบบ IT และศูนย์ข้อมูลเป็นฐานรากสำคัญของกระบวนการทำงานทุกส่วนในบริษัท ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องตรวจสอบการทำงานทุกส่วนตั้งแต่การวางแผน การติดตั้งใช้งาน และการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จัดการโครงสร้างระบบดาต้าเซ็นเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพ
หลังจากที่พิจารณาปัจจัยประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งหมดแล้ว ต่อไปก็เป็นการติดตั้งระบบบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูล (DCIM) ที่สามารถรองรับการทำงานได้อย่างเต็มกำลังและเชื่อถือได้ เพราะเป็นส่วนสำคัญในการจัดการและมอนิเตอร์ระบบ โดยระบบดังกล่าวต้องมีศักยภาพที่เด่นชัดใน 4 ด้านหลักด้วยกัน ดังนี้
● ความสมบุกสมบันและความน่าเชื่อถือ – ไม่ว่าโซลูชันจะมีความล้ำหน้าและเก่งกาจเพียงใดในทางเทคนิค แต่หากไม่สามารถให้บริการข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ ก็ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่จะนำมาใช้งาน
● รองรับลูกค้าได้หลายราย – โซลูชันที่จัดการลูกค้าหลายรายในหลายไซต์ได้พร้อมกันในระบบเดียว ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด สถานที่ใด และอุปกรณ์จากผู้จำหน่ายรายใดก็ตาม
● รองรับการขยายระบบ – ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นก็ย่อมต้องจัดการศูนย์ข้อมูลมากขึ้นด้วย โซลูชันที่ดีจึงต้องรองรับการขยายระบบในทุกระดับ
● การวิเคราะห์ต้นตอปัญหา – การแจ้งเตือนความผิดพลาดไม่เพียงพออีกต่อไป โซลูชันที่ดีจะต้องจัดการกับปัญหาได้รวดเร็ว และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา อีกทั้งยังต้องตรวจหาและแจ้งสาเหตุของปัญหาได้อย่างถูกต้องด้วย
นอกจากประเด็นหลักๆ ข้างต้นแล้ว DCIM ที่ดียังต้องประหยัดพลังงานและรองรับการจัดการด้านการใช้พลังงานด้วย เพราะปัจจุบันเราต้องเผชิญกับค่าพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้น ตลอดจนแรงกดดันด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องด้วยศูนย์ข้อมูลเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานสูง ดังนั้น DCIM ที่ใช้จะต้องมอนิเตอร์การใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อสามารถมอนิเตอร์การใช้งานอุปกรณ์และระบบได้ทั้งหมด และยังรวมถึงการมอนิเตอร์ความผันผวนของอุณหภูมิได้ด้วย เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำให้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เสื่อมสภาพเร็ว หรือกระทั่งหยุดการทำงานเพราะเกิดความร้อนเกินที่กำหนด ขณะเดียวกันอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปก็ทำให้สิ้นเปลืองค่าพลังงานของระบบระบายความร้อนโดยไม่จำเป็น
ประสิทธิภาพผ่านการทำงานร่วมกัน
เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานสำคัญทั้งหมดแล้ว การผสานการทำงานเข้ากับโครงสร้างระบบ IT ที่มีอยู่เดิมก็จะชัดเจนขึ้น และมองเห็นภาพรวมของระบบ IT และศูนย์ข้อมูลทั้งหมดได้ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์ต้นตอปัญหาและระบุความผิดพลาดได้รวดเร็ว แก้ไขสถานการณ์ได้ทันที แตกต่างจากโซลูชันการมอนิเตอร์ระบบทั่วไปที่ทำงานแยกจากกัน ทั้งหมดก็เพื่อทำให้ศูนย์ข้อมูลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียร ตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดได้ทันทีก่อนที่จะลุกลามจนทำให้ระบบล่มหรือปิดการทำงาน นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานยังวางแผนจัดการทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว
บทความโดยเฟลิกซ์ เบิร์นดท์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Paessler AG