กรุงเทพฯ – SCG หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย เผยรายได้จากการขายรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เท่ากับ 252,461 ล้านบาท คงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง เนื่องจากสถานการณ์ตลาดในประเทศไทยที่อ่อนตัวลงตามฤดูกาล แม้ว่าจะมีปริมาณขายของSCG Chemicals หรือ เอสซีจี เคมิคอลส์ และ SCGP หรือ เอสซีจีพี เพิ่มขึ้นก็ตาม โดยการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปี 2567 มีมูลค่ารวม 111,367 ล้านบาท คิดเป็น 44% ของยอดขายรวม
- – TQMalpha ทุ่ม 300ล้านบาท ลงทุนใน MGI เสริมแกร่งดิจิทัลแพลตฟอร์ม
- – SCGP ครึ่งปีแรก 2567 โต 3% พร้อมจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.25 บาท/หุ้น
นอกจากนี้ EBITDA ซึ่งก็คือกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ยังลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 28,889 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิลดลงถึง 75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 6,133 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 ที่มีกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน 14,822 ล้านบาท และกำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษลดลง 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาที่ลดลงประกอบกับค่าใช้จ่ายของโรงงานปิโตรเคมี LSP
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง SCGรายงานว่าปริมาณการขายลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการลดลงตามฤดูกาล และมีกำไรจากการดำเนินงานลดลง 16% จากไตรมาสก่อน แต่ยังคงเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดปูนซีเมนต์โดยรวมในประเทศไทยที่หดตัว 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า
อีกทั้งความต้องการที่อ่อนตัวในภาคครัวเรือนในระดับกลางและล่างรวมถึงภาคเอกชน (สัดส่วนประมาณ 60% ของตลาด) อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดการณ์ว่าตลาดจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ถึงแม้ว่าราคาเฉลี่ยปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ยังใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนก็ตาม ขณะเดียวกันในเวียดนามและอินโดนีเซียกลับมาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง โดยได้รับแรงหนุนจากภาครัฐของทั้งสองประเทศ
ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ในส่วนของธุรกิจเคมีภัณฑ์SCG Chemicals ยังคงได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนตัว โดยมีสาเหตุจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จากอุปทานในตลาดที่ลดลงในช่วงหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิต ส่งผลให้ราคาปิโตรเคมียังคงทรงตัว โดยราคาขายเฉลี่ยของ HDPE และ PP ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน แม้ไตรมาสที่ผ่านมาธุรกิจมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น จากการกลับมาเดินเครื่องของโรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังอ่อนตัว จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง ขณะที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาด
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ SCGP มีรายได้จากการขายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน SCG Decor หรือ เอสซีจี เดคคอร์ มีรายได้จากการขายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 167% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เอสซีจีรายงานว่าผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมียอดขาย 128,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน และมีกำไร 3,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากไตรมาสก่อน ปัจจัยหลักมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ และกำลังซื้อในตลาดอาเซียนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย
แนวโน้มและกลยุทธ์ แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายจากวัฏจักรปิโตรเคมีโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า เอสซีจีได้เร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดยเน้นการบริหารต้นทุนพลังงาน การมุ่งเน้นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เอสซีจีพร้อมรับมือด้วยความคล่องตัวและมั่นคง มีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร 78,907 ล้านบาท รวมทั้งนวัตกรรมโซลูชันตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าครบวงจร
การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เอสซีจีได้ขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการลงทุนในธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การขยายโมเดิร์นเทรด “Mitra 10” ในอินโดนีเซีย การเปิดตัวปูนคาร์บอนต่ำ “SCG Low Carbon Super Cement” ในเวียดนาม และการร่วมทุนเปิดโรงงานแผ่นผนังมวลเบา (AAC Walls) ภายใต้แบรนด์ “ZMARTBUILD WALL by NXTBLOC” ในอินเดีย
โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2567 SCGมีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหารเท่ากับ 78,907 ล้านบาท และมีหนี้สินสุทธิ 289,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,512 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 0.6 เท่าอยู่ในระดับเดียวกันกับไตรมาสก่อน และไตรมาสที่ 4 ปี 2566
คณะกรรมการบริษัทSCG อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2567 ในอัตรา 2.5 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 23 สิงหาคม 2567
#SCG #หุ้นSCG #ปูนซิเมนต์ #ธุรกิจก่อสร้าง #ปิโตรเคมี #บรรจุภัณฑ์ #ESG #ปูนซิเมนต์ไทย #ผลประกอบการ #หุ้น #TheReporterAsia #กำไรลด #ปันผล