กรุงเทพฯ, ประเทศไทย– สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานแถลงข่าว “การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ มุ่งสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม และการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล
- – แกร็บฟู้ด ส่งแคมเปญเขย่าตลาดท้ายปี ชูไฮไลท์ “ลดสูงสุด 90% – โปรส่งฟรี”
- – TCP จับมือ EGG Digital ยกระดับ RedClub สู่ Loyalty Program ครบวงจร
ดร.ฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด นักวิชาการนโยบายและแผนเชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการแทนรองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า “สำนักงาน กสทช. ดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม บูรณาการเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ ให้สามารถเข้าถึง เข้าใจ และมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ มีความฉลาดทางดิจิทัล มีความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เพื่อให้สามารถปรับใช้ในสถานการณ์การสื่อสารในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย”
กิจกรรมสำคัญที่ผ่านมา คือ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ซึ่งจัดขึ้น 11 ครั้ง ครอบคลุม 77 จังหวัด รวม 770 คน โดยมีแกนนำเครือข่ายจากสภาวัฒนธรรม ผู้นำชุมชน ครู อาจารย์ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลเครือข่ายผู้บริโภคที่สำคัญ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายประชาชนในระดับแกนนำที่เข้มแข็ง เกิดกลไกการทำงานในพื้นที่ โดยนำองค์ความรู้จากการบูรณาการของทั้ง 2 หน่วยงานไปขยายผล เช่น การจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ การจัดทำค่ายเยาวชน การนำองค์ความรู้ไปสอดแทรกในหลักสูตรการศึกษา การจัดกิจกรรมรณรงค์ การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการนำองค์ความรู้ไปสอดแทรกในสื่อวัฒนธรรมหรือสื่อพื้นบ้าน
จากการประเมินโครงการ พบว่า การมีส่วนร่วมของแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคจากทั้งสองหน่วยงาน ถือเป็นจุดเด่นและกลไกสำคัญ ดังนั้น จึงควรมีการเสริมสร้างศักยภาพแกนนำเครือข่าย และพัฒนาแกนนำรุ่นใหม่ เพื่อขยายผลองค์ความรู้สู่ประชาชน โดยในอนาคต อาจมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กสทช. และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างเข้มข้นต่อไป
นอกจากนี้ ในปี 2568 สำนักงานกสทช. มีนโยบายที่จะสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิ และยกระดับเครือข่ายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้ทักษะของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างรู้เท่าทัน (Media Information and Digital Literacy: MIDL) โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และสามารถรับมือกับปัญหาจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยสำรวจระดับการเข้าถึง การรับรู้ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารของกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง
นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “ปัจจุบัน สื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก้าวข้ามจากยุคสื่อเดิมสู่ยุคสื่อสมัยใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสาร รูปแบบของสื่อสมัยใหม่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อมีส่วนร่วมในการผลิตเนื้อหาอย่างไม่จำกัด แม้บริบทของสื่อจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สื่อยังคงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คน ดังนั้น การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เพื่อให้สามารถตระหนักและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล และร่วมต่อต้านกระแสด้อยค่าวัฒนธรรมดั้งเดิม”
กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2566) เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงาน มุ่งเน้นให้เครือข่ายภาคประชาชนสามารถเฝ้าระวัง ตรวจสอบเนื้อหาของสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม มีภารกิจในการประสานงาน สร้างความร่วมมือ ส่งเสริมสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหา รองรับการดำเนินงานระดับนโยบาย และตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาสังคมในมิติวัฒนธรรม
#กสทช #กระทรวงวัฒนธรรม #เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม #คุ้มครองผู้บริโภคสื่อ #รู้เท่าทันสื่อ #สื่อดิจิทัล