ภูเก็ต, ประเทศไทย – ภูเก็ต ยังคงครองแชมป์เมืองท่องเที่ยวของไทย แม้จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตอย่างโดดเด่น สวนทางกับภาพรวมของประเทศ
- – แฮปปี้เชฟ เผย 3 กลยุทธ์ เด็ด สู่ผู้นำอาหารพร้อมทานในเซเว่นฯ
- – ทริสเรทติ้ง คาดเศรษฐกิจไทย 67 โต 2.6% ปี 68 โต 2.8% รับท่องเที่ยวฟื้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยรายงาน “In Focus ภูเก็ต” ฉบับล่าสุด ระบุว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดี สวนกระแสภาพรวมของประเทศ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในภูเก็ตจะอยู่ระหว่างการฟื้นตัว แต่ด้วยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว จนทำให้เศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตขยายตัวค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเส้นทางการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเส้นทางบินตรงจากจีน สิงคโปร์ และตะวันออกกลางเป็นเส้นทางหลักที่นำนักท่องเที่ยวสู่ภูเก็ต
อีกทั้ง นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังภูเก็ตมีความหลากหลายมากขึ้น จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวสัญชาติใหม่ ๆ อย่างเช่นนักท่องเที่ยวอินเดีย คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล และ UAE ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวศักยภาพที่เข้ามาเสริมรายได้ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตโดยเฉพาะในช่วง Low season อีกทั้ง พฤติกรรมการท่องเที่ยวยังเปลี่ยนเข้ามาพักในย่านเมืองเก่ามากขึ้น และแต่ละชายหาดจะมีฐานลูกค้าเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตที่สามารถนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ฐานลูกค้าหลักในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละพื้นที่ได้จะช่วยสร้างรายได้ให้ธุรกิจได้มากขึ้นจากการรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนตลอดทั้งปี
ภูเก็ตกำลังก้าวสู่การพัฒนาในระยะข้างหน้า ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องที่อยู่ในโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยธุรกิจท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูเก็ตเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ปัจจุบันโรงแรมและที่พักในภูเก็ตที่ได้รับสัญลักษณ์ความยั่งยืนมีเพียง 4% ของโรงแรมในภูเก็ตทั้งหมด
ขณะที่ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภูเก็ตมีแผนในการพัฒนาสนามบินทั้งการขยายสนามบินเดิม และการสร้างสนามบินใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ยังมีแผนพัฒนาระบบคมนาคมภายในจังหวัดให้มีความสะดวกและแก้ปัญหาการจราจร
อย่างไรก็ดี ภูเก็ตยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาหลายด้านที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะและการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง การจัดการกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจมาพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจภูเก็ต โดยในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ไวสอดรับกับความหลากหลายที่เข้ามา โดยเฉพาะจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และจากการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดึงดูดให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรายใหม่สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภูเก็ตมากขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจท่องเที่ยวยังได้รับผลบวกจากนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงที่เข้ามาและมีแนวโน้มใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยว
ควรยกระดับการบริการเพื่อสร้างการรับรู้คุณค่าของบริการให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความคุ้มค่าคุ้มราคาแม้จะต้องใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจภูเก็ตยังสร้างโอกาสการเติบโตให้กับหลายธุรกิจในภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลเอกชน และอสังหาริมทรัพย์
แต่การพัฒนาภูเก็ตในระยะข้างหน้า บทบาทภาครัฐมีส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับภาคการท่องเที่ยวสู่โซนท่องเที่ยวอันดามันซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัดอันดามันอย่างพังงาและกระบี่เพื่อลดความแออัดของผู้คนที่กระจุกตัวในภูเก็ต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงการวางทิศทางด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจนควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทันต่อการเติบโตในอนาคตเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ภูเก็ตต่อไป
ภูเก็ตถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จากภาคการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เติบโต กว่า 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยวทั้งประเทศอยู่ระหว่างการฟื้นตัว
รายได้ของภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของภูเก็ต
ในปี 2024 รายได้จากชาวต่างชาติฟื้นแล้ว แต่รายได้จากชาวไทยยังไม่ฟื้น แม้จํานวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาเท่าเดิม แต่ภาคการท่องเที่ยวภูเก็ตเติบโตได้ดีจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ธุรกิจโรงแรมและที่พักฟื้นกลับมาได้แล้วตั้งแต่ปี 2023
ธุรกิจโรงแรมเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้อานิสงส์จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ขณะที่การเดินทางเข้า-ออกภูเก็ตทางอากาศในเส้นทางระหว่างประเทศฟื้นตัวจากปี 2019 พร้อมรับนักท่องเที่ยว และเติบโตดีกว่าภาพรวมทั้งประเทศ โดยเส้นทางบินตรงจากจีน สิงคโปร์ และตะวันออกกลางเป็นเส้นทางหลักที่นำนักท่องเที่ยวสู่ภูเก็ต
ปริมาณผู้โดยสารเครื่องบินเข้า-ออกภูเก็ตและทั้งประเทศ
ปริมาณเที่ยวบินเข้า-ออกภูเก็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 โดยปัจจุบัน ภูเก็ตเป็น Destination ที่รับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ด้วย Demand นักท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งจากหลายเชื้อชาติ และในหลายช่วงเวลา ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ในช่วงที่เคยเป็น Low season ได้มากขึ้น
กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ภูเก็ตในช่วง Low season ยังคึกคัก โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตมีความหลากหลายมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการท่องเที่ยวทั้งการเข้ามาพักในย่านเมืองเก่ามากขึ้น ฐานลูกค้าในแต่ละพื้นที่ และการเข้ามาของนักท่องเที่ยวสัญชาติใหม่ ๆ
การพัฒนาที่ยั่งยืนของจังหวัดภูเก็ต
พฤติกรรมนักท่องเที่ยวแต่ละสัญชาติจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวในภาคใต้ ซึ่งภูเก็ตกำลังก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะข้างหน้า ธุรกิจท่องเที่ยวจึงมีบทบาทสำคัญด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจผูกกับภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมที่พัฒนาด้าน ESG มีอยู่ไม่มาก แต่ตื่นตัวมากกว่าพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน
โดยภาครัฐมีแผนพัฒนาภูเก็ตที่ครอบคลุมหลายด้านในระยะข้างหน้า ทั้งสนามบิน และการคมนาคม รวมถึงกำหนดเป้าหมายด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยให้การพัฒนาภูเก็ตเป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากนี้ จังหวัดท่องเที่ยวข้างเคียงยังได้อานิสงส์จากการเติบโตของภูเก็ต อย่างพังงาที่กำลังฟื้นตัวตามจากจุดเด่นด้านราคาและความสงบ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มยุโรป
ขณะที่การท่องเที่ยวกระบี่เป็นอีกหนึ่งจุดหมายควบคู่กับภูเก็ต ที่ฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก จากการมีจุดขายด้าน Wellness sustainability ที่ชัดเจน รวมถึงการรองรับกลุ่ม MICE
การพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูเก็ตต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
การพัฒนาเศรษฐกิจภูเก็ตในระยะถัดไปให้เติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาทักษะแรงงาน
ขณะที่ภาคเอกชนต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด พัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่วนภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
ข้อค้นพบที่สำคัญ
นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงขึ้นภายใต้ความคุ้มค่าคุ้มราคา
แม้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงจากภาพรวมการใช้จ่ายที่สูงกว่าปี 2019 รวมถึงค่าที่พักเฉลี่ยโดยรวมในภูเก็ตที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มไลฟ์สไตล์ หรู (Luxury) อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะยินดีจ่ายสูงขึ้นก็ต่อเมื่อนักท่องเที่ยวรับรู้ถึงความคุ้มค่าคุ้มราคาในการใช้สินค้าและบริการ
ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องยกระดับการบริการให้พรีเมียมมากขึ้น อย่างเช่นการเสนอบริการในรูปแบบ Personalization ตลอดการเข้าพัก หรือการเพิ่มเรื่องราวจากการใช้สินค้าหรือบริการ เช่น ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผลิตในชุมชนใกล้เคียง การนำวัตถุดิบที่เป็นพืชพื้นถิ่นมาปรุงอาหาร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย
การเติบโตดีของเศรษฐกิจภูเก็ตมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจ
โดยการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัย นอกจากจะส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารได้รับอานิสงส์แล้ว ยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาการเติบโตของเมืองในภาพรวมอีกด้วย โดยจะส่งผลบวกต่อเนื่องให้หลายธุรกิจเติบโตตามและสร้างโอกาสแก่ภาคธุรกิจในการลงทุนในภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลเอกชน และอสังหาริมทรัพย์อย่างบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่ออุปทานส่วนเกินในระยะข้างหน้าสำหรับธุรกิจกลุ่มนี้ก็ปรับเพิ่มขึ้น หากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักอย่างกลุ่มที่เข้ามาจากผลกระทบของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้คลี่คลายลงและเดินทางกลับประเทศ ผู้ประกอบการจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและเน้นพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
ภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตมีแนวโน้มเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น
จากการเติบโตดีของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมสนใจเกาะกระแสการเติบโตเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภูเก็ตมากขึ้น และจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นตามมาในระยะข้างหน้า ดังนั้น ธุรกิจที่โดดเด่นในตลาดจึงมีความได้เปรียบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอการบริการที่แตกต่างสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่สอดคล้องกับ เทรนด์ความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น การบริการด้าน Wellness แบบครบวงจรสำหรับนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสุขภาพ
การจัดกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับนักท่องเที่ยวสายคอนเทนต์ การจัดแพ็กเกจเฉพาะกลุ่มอย่าง Lady journey package หรือ Green traveler package รวมถึงการกำหนดตัวตนด้วยการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถจดจำได้ง่าย เช่น การวางคอนเซปต์ที่พักที่ชัดเจนอย่างโรงแรมที่ผู้เข้าพักสามารถใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้แบบ Ecological hotel หรือที่พักในรูปแบบ Serviced apartment และมีพื้นที่ Co-working space ที่ตอบโจทย์กลุ่ม Remote work และกลุ่ม Digital nomad
การปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับความหลากหลายที่เข้ามา
โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่เดินทางเข้ามามากขึ้นในแต่ละช่วงอย่างนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง อินเดีย ที่เข้ามาเสริมในช่วงหน้าฝนที่เคยเป็นโลว์ซีซัน และนักท่องเที่ยวรัสเซีย อิสราเอล ที่จะเข้ามาในช่วงปลายปี จึงทำให้พฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงตลอดในแต่ละช่วงเวลาของปี
ดังนั้น ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอและปรับการบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ซึ่งการมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจอาจจะช่วยลดต้นทุนและสามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ทันท่วงที เช่น การร่วมมือกับร้านอาหารฮาลาลในพื้นที่ในการจัดเตรียมอาหารในช่วงที่นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางเข้ามาพักแทนการตั้งครัวฮาลาลเอง
การพัฒนาโชนท่องเที่ยวอันดามัน
จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว การย้ายเข้ามาพำนักในไทยของชาวต่างชาติจากวีซ่าระยะยาว (LTR Visa) และการเข้ามาของแรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ทำให้จำนวนผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ภูเก็ตหนาแน่นขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภูเก็ตมีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดจึงทำให้สภาพพื้นที่โดยรวมอาจจะรองรับการเพิ่มจำนวนของผู้คนได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้การขยายพื้นที่ท่องเที่ยวให้กว้างขึ้นสู่โชนท่องเที่ยวอันดามันจะช่วยลดความแออัดของผู้คนและผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมซึ่งนำไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืนได้
ทั้งนี้การพัฒนาโขนท่องเที่ยวอันดามันนี้ควรจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมและครบวงจร ทั้งในด้านการขนส่งอย่างการขยายถนน การวางระบบขนส่งสาธารณะ ที่สร้างความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และในด้านสาธารณูปโภคเช่น การบริหารจัดการน้ำ และการจัดการขยะภูเก็ต รวมถึงการโปรโมตการท่องเที่ยวต่อยอดจากภูเก็ตให้มากขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมของโลก
การวาง Position ที่ชัดเจนจะช่วยให้ภูเก็ตถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
ที่ผ่านมาภาครัฐมีแผนในการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในหลากหลายด้าน เช่น Sport, Medical Hub และ Gastronomy เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้หลายกลุ่มในช่วงของการพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด ในปัจจุบันภูเก็ตได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติและก้าวสู่ช่วงของการเติบโต อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น การวางจุดยืนที่ชัดเจนจะช่วยให้แผนการพัฒนาภูเก็ตในระยะข้างหน้ามีความสอดคล้องกันทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้การพัฒนาภูเก็ตเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น หากกำหนด Position ให้ภูเก็ตเป็น Wellness Hub ภาครัฐอาจต้องให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ภาคเอกชนอาจต้องปรับตัวโดยการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า Wellness มากขึ้น
#ภูเก็ต #ท่องเที่ยว #เศรษฐกิจ #SCBEIC #ไทยพาณิชย์ #นักท่องเที่ยว #ต่างชาติ #รายได้ #โรงแรม #ที่พัก #สนามบิน #คมนาคม #ยั่งยืน #ESG #อันดามัน #พังงา #กระบี่ #Wellness #Luxury #โอกาส #ธุรกิจ #การแข่งขัน #พฤติกรรม #Position