กสทช.ยังยื้อคลื่น 2300 MHz ไม่ให้ดีแทคนำไปใช้ มุ่งเอาใจเน็ตชายขอบใช้ฟรี 3 ปี

2300 MHz

กสทช.ยังยื้อคลื่น 2300 MHz ไม่ให้ดีแทคนำไปใช้ง่ายๆ เผยยังต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มและจะประชุมเรื่องนี้อีกที 27 ธันวาคมนี้ หันไปเอาหน้าเรื่องเน็ตชายขอบให้ใช้ฟรี 3 ปีสำหรับประชาชนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาศัยในพื้นที่ของโครงการจำนวนประมาณ 3,920 หมู่บ้าน คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ประมาณ 1 ส.ค.2561 เป็นต้นไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า เรื่องสัญญาณการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ ดีแทค ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคมแล้ว

และได้บรรจุเข้าเป็นวาระการประชุม กสทช. ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ธ.ค. 2560 เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ สำนักงานฯ ได้ส่งรายละเอียดให้ กสทช. ทุกคนไปศึกษาในรายละเอียดก่อน

ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2560 ยังมีเห็นชอบให้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยการเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับประชาชนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาศัยในพื้นที่ของโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ จำนวนประมาณ 3,920 หมู่บ้าน

ซึ่งกสทช.กำลังดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์โดยจะเป็นการเปิดให้บริการฟรีเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2561-2563 จากเดิมที่จะมีการคิดค่าบริการไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน

ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่จะได้ใช้งานคือ 30/10 Mbps โดยกสทช.จะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,683.73 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเป็นการสนับสนุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เป็นงบประมาณจากโครงการของ USO ในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ประมาณ 1 ส.ค.2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ชายขอบที่ผ่านเกณฑ์เป็นผู้มีรายน้อยของกระทรวงการคลัง กสทช. คาดว่าจะมีประมาณ 520,000 ครัวเรือน (คิดเป็น 86%) จาก 607,000 ครัวเรือน จะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามนโยบายรัฐบาล

ในที่ประชุม กสทช. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเชื่อมต่อบริการอินเทอร์เน็ตให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ สำนักงาน กสทช. จะประสานฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับกระทรวงการคลังต่อไป

“ปัจจุบันข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี 2560 พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบนั้น มีรายได้เฉลี่ย 5,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แต่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ดังนั้นมติของ กสทช. ดังกล่าวนี้จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนเมืองกับคนในพื้นที่ชายขอบ

อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เช่น การรักษาแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ รวมถึง เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้”

นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ประเมินว่าหากครัวเรือนในพื้นที่ชายขอบสามารถสร้างรายได้ อาทิ การขายสินค้าโอท็อปผ่านระบบออนไลน์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 2,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตปีละ 12,480 ล้านบาท

banner Sample

Related Posts